เกือบ 3 เดือนแล้วหลังการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา คนไทยก็ยังไม่ได้เห็นโฉมหน้าของรัฐบาลชุดใหม่

หลังจากพรรคเพื่อไทย ถอนตัวจากเอ็มโอยู 8 พรรคร่วมเดิม เพื่อเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่ไม่มีพรรคก้าวไกล

ช่วงสายวันที่ 3 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้ประกาศเลื่อนการพิจารณาว่าจะรับ-ไม่รับคำร้องเรื่องการเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่ ออกไปเป็นในวันที่ 16 ส.ค.นี้

ก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะแถลงว่ามีพรรคใดบ้างที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลในช่วงบ่าย

ตามด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา สั่งเลื่อน วาระการลงมติโหวตชื่อนายกรัฐมนตรี เพราะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน

เช่นเดียวกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทวีตข้อความเมื่อเช้าวันที่ 5 ส.ค. แจ้งเลื่อนการเดินทางกลับประเทศไทย ระบุว่า

“ผมขอเลื่อนวันเดินทางกลับไทยจากวันที่ 10 ส.ค. ไปอีกไม่เกินสองสัปดาห์ วันเวลาจะแจ้งอีกครั้ง หมอเรียกให้ไปตรวจร่างกายก่อน”

ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาถึงการเลื่อนที่เกิดขึ้น

น.ต.ศิธา ทิวารี แกนนำพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า การกลับไทยของนายทักษิณ มันสุ่มเสี่ยง แต่เมื่อทุกอย่างเลื่อนไป ยิ่งเลื่อนเท่าไหร่โอกาสก็ลดลงไปเรื่อยๆ การเลื่อนประชุมสภา มองว่าไม่เป็นผลบวก ปกติถ้าลงตัวแล้ว มันต้องรีบจบ แต่การเลื่อนเช่นนี้โอกาสที่อีกฝ่ายจะตั้งตัว แล้วมามองว่าแตกกันแล้วก็ดีเลย ไทมิ่งคือแตกกันปั๊บ อีก 2 วันต้องเลือกเลย แต่แตกกันแล้วยังต่อรองแบบนี้ เขายึดอำนาจการต่อรองไว้ทั้งหมดเลย เหนื่อยแน่ และส่งสัญญาณที่ไม่ดีต่อประชาธิปไตยมาก หากอยากได้เสียงเยอะๆ ในสภา ก็จะเกิดการข้ามขั้ว

กระสุนจึงมาตกที่เพื่อไทย การยกเหตุผลว่าประชาชนรอไม่ได้ ประชาชนจะอดตายอยู่แล้วนั้น จริงๆ แล้ว ประชาชนไม่ได้บอกอย่างนั้น เขารอมาได้ 9 ปี อดทนรอเพื่อมาเลือกตั้งชนะถล่มทลาย และคนที่เลือกก้าวไกลก็คือคนที่เคยเลือกเพื่อไทย และไม่คิดว่าก้าวไกลเป็นภัยต่อประชาธิปไตย เมื่อแยกกันแล้วไปจับกับลุง ก็จะไม่เป็นประชาธิปไตย

ตอนนี้เป็นเกมอันตราย เขาพยายามสลายเพื่อไทยกับก้าวไกล ออกจากกัน พอแตกกันจริงก็เหมือนไปเล่นในเกมของเขา และเมื่อ ทุกอย่างถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ ก็ไม่เป็นผลดีต่อประชาธิปไตย

ส่วนที่สังคมมองว่าเพื่อไทยขาดทุนย่อยยับนั้น ถ้ามองประชาธิปไตยหรือศรัทธาประชาชนให้ประเทศเดินหน้า อันนี้ขาดทุนย่อยยับ แต่ถ้าคิดกำไรเป็นอย่างอื่นก็ไม่รู้ มุมมองนักการเมืองกับประชาชน ต่างกัน

รัฐบาลเพื่อไทยตั้งได้แน่นอนอยู่แล้ว แม้จะกลับมารวมกับก้าวไกลก็ตั้งรัฐบาลเพื่อไทยได้ เพราะดูกลไกแล้ว ก้าวไกลเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯ คนเดียว มีอะไรผิดพลาดก็เสนอชื่อนายกฯ เพื่อไทยได้ น้ำหนักจะอยู่ที่เพื่อไทย แต่กลไกที่เพื่อไทยเลือกในตอนนี้ ถือว่าเสี่ยงมาก

นายอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ยิ่งเนิ่นนานยิ่งเสียโอกาสประเทศ ทำให้เสถียรภาพการเมืองและเศรษฐกิจมันไม่เสถียร ซึ่งการเลื่อนแถลงจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ถือเป็นสัญญาณสำคัญว่าพรรคเพื่อไทยมีเสียงโหวตสนับสนุนไม่เพียงพอ และยังติดญัตติ ที่เสนอชื่อได้เพียงครั้งเดียว และถ้าพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยไปจับมือกับพรรคของ 2 ลุง หรือพรรคที่เป็นฝั่งนั่งร้าน หากจะเรียกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยก็ลำบาก ต้องเรียกว่ารัฐบาลช่วยสืบทอดอำนาจให้คสช.

ดังนั้น เพื่อไทยต้องทบทวน อาจกลับมาจับมือกับพรรคก้าวไกล บนเงื่อนไขเอ็มโอยูเดิม ซึ่งอาจเพิ่มเงื่อนไขบางอย่างที่สอดคล้องกับปัจจุบัน และ 8 พรรคต้องจับมือกันให้แน่น ดังนั้น ก่อนจะถึงวันที่ 16 ส.ค. พรรคเพื่อไทยยังกลับตัวทัน มาพูดคุยขอโทษกัน ให้คำมั่นว่าจะไปต่อด้วยกัน

ส่วนโรคเลื่อนที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ทั้งการเลื่อนพิจารณาคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ เลื่อนโหวตเลือกนายกฯ และกระแสข่าวการเลื่อนกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ตนคิดว่าทุกเรื่องสอดคล้องกัน และส่งผลกระทบหลายส่วน ซึ่งการเลื่อนของนายทักษิณ สะท้อนว่า การเจรจายังไม่สมูธเท่าที่ควรในการกลับประเทศ ส่วนการเลื่อนของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นนัยยะสำคัญส่งผลให้สภาเลื่อนโหวต เกิดความสุ่มเสี่ยงและมีผลกระทบต่อการมีรัฐบาลใหม่

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เหมือนรอจังหวะเสียบขึ้นมาเป็น นายกฯ โดยอาศัยเพื่อไทย เพราะพรรคเพื่อไทยมีเงื่อนไขการกลับมาของนายทักษิณ ซึ่งกลับมาติดคุก มาเป็นตัวประกันของอีกฝั่ง สุ่มเสี่ยงมาก และเป็นเงื่อนไขในการเจรจา อาจจะเลยเถิดไปถึงนายกฯ เป็นพล.อ.ประวิตรก็ได้ ความเป็นไปได้มีทุกรูปแบบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน