ตรัง – น.ส.พัชรี ซุ่นสั้น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง เผยถึงความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนหรือปลานีโม่รวม 15 สายพันธุ์ ทั้งปลาการ์ตูนประจำถิ่นและปลาการ์ตูนลูกผสม เช่น ปลาการ์ตูนส้ม-ขาว, ลูกผสมปิกัสโซ่, แพลตตินั่ม, เพอร์คูล่า, แบล็กสโนว์ การ์ตูนอานม้า, การ์ตูนลายปล้อง การ์ตูนมะเขือเทศ ฯลฯ เพาะพันธุ์ได้ตั้งแต่ปี 2553 ขยายสายพันธุ์ต่อเนื่องทุกปี เพื่อความต้องการของลูกค้าตลาดปลาสวยงามทั้งในและต่างประเทศขยายพันธุ์ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 ตัว ราคาขายถูกสุดเช่น ส้ม-ขาว ซึ่งเป็นปลาการ์ตูนประจำถิ่น ขนาดความยาวไม่เกิน 1.6 เซนติเมตร ราคาตัวละ 35 บาท ขนาด 3-4 เซนติเมตรตัวละ 70 บาท ส่วนที่มีราคาแพงที่สุดคือปลาการ์ตูนลูกผสมในกลุ่มปิกัสโซ่ ขนาดความยาว 3-4 เซนติเมตร ราคา ตัวละ 350 บาทขายตรงให้ไปเลือกเองที่ศูนย์วิจัยฯ และขายผ่านออนไลน์มีการนำภาพปลาการ์ตูนไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊กของศูนย์วิจัยฯส่งปลาไปให้ถึงบ้าน พร้อมแนะนำการเลี้ยงที่ถูกวิธีสร้างรายได้กว่า 300,000 บาทต่อปีมีลูกค้าทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และมาเลเซีย

แต่ละปีจะนำปลาการ์ตูนส้มขาว เป็นปลาประจำถิ่น ร่วมกับหน่วยงานราชการต่างๆ นำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติกว่า 10,000 ตัว เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ สร้างสีสันและความสวยงามให้กับแหล่งดำน้ำดูปะการังโดยเฉพาะใน จ.ตรังและฝั่งทะเลอันดามัน ระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีปลาการ์ตูนแหวกว่ายอยู่คู่กับดอกไม้ทะเลตามเกาะมากขึ้นเพราะว่ามีเกษตรกรซื้อไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ส่งขายเป็นรายได้เสริม

สำหรับปลาการ์ตูน 1 คู่จะวางไข่เดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 300-800 ฟอง อายุประมาณ 2-3 เดือนก็เริ่มจับขายได้ โดยให้กินไรน้ำเค็ม และอาหารเม็ดขนาดเล็กตามอายุของปลาวันละ 2 ครั้งคือเช้ากับเย็น เมื่อปลาเริ่มโตขึ้นจะสลับกับการให้อาหารสด เช่นเนื้อหอยและเนื้อกุ้งสับละเอียด ซึ่งเกษตรกรมือใหม่จะมีอาหารปลาพร้อมน้ำทะเลที่เหมาะกับการเลี้ยงแถมให้ฟรี

ส่วนช่องทางการขายมี 2 แบบคือให้ลูกค้ามาเลือกปลาการ์ตูนที่ศูนย์เอง และแบบขายออนไลน์ แต่ละปีขายได้ประมาณ 20,000-30,000 ตัว ส่วนที่เหลือจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มผลผลิตในธรรมชาติ ส่วนแนวโน้มความต้องการของตลาดเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ปีนี้มีลูกค้าต้องการมาก ส่วนเกษตรกรรายใดสนใจ ติดต่อที่ศูนย์ 0-7527-4077-8

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน