เพื่อร่วมพลิกโฉมการจัดการขยะบนเกาะ ซีพี ออลล์-เซเว่น อีเลฟเว่น ยกทัพภาคี เครือข่ายโรงเรียน-ชุมชน-องค์กรไร้ถัง ทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดตัวโครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” นำร่องแก้ปัญหาขยะล้นกว่า 50 ตันต่อวันของ 3 เทศบาลบนเกาะพะงัน ขยายผล “โครงการต้นกล้าไร้ถัง” ภายใต้ CONNEXT ED ผลักดัน “โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา” จ.สุราษฎร์ธานี ขึ้นแท่นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน สนับสนุนองค์ความรู้ด้าน Reuse, Recycle, Upcycle เปลี่ยนขยะพลาสติกบนเกาะสู่ “อิฐรักษ์โลก” หวังทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ลดปริมาณขยะพร้อมสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน

นายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาความยั่งยืน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทในฐานะสมาชิกภาคีเครือข่ายโรงเรียน-ชุมชน-องค์กรไร้ถัง ร่วมกับสมาชิกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศการจัดการขยะ จัดตั้งโครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” แนวคิดการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อมภายใต้นโยบาย 7 GO GREEN เพื่อสิ่งแวดล้อม 24 ชั่วโมง เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการจัดการขยะระดับพื้นที่ “เกาะ” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มักจะมีปริมาณขยะจำนวนมาก ให้สามารถจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มโครงการที่เกาะพะงัน ซึ่งพบปัญหาขยะมากถึง 50 ตันต่อวัน ในพื้นที่ 3 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลตำบลเกาะพะงัน เทศบาลตำบลเพชรพะงัน และเทศบาลตำบลบ้านใต้

สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการจะให้โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา หนึ่งในโรงเรียนในโครงการของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี ภายใต้การดูแลของซีพี ออลล์ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางโครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” มอบองค์ความรู้ด้านการ Reuse, Recycle, Upcycle และเป็นต้นแบบการจัดการขยะแก่ชุมชน ผ่าน 3 หลักการ ลด แยก และขยายเครือข่าย

ด้าน นางภัทรภร พุทธรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเกาะพะงันศึกษา กล่าวว่า ทางโรงเรียนนำ “โครงการต้นกล้าไร้ถัง” มาพัฒนาให้เกิด “เกาะพะงันไร้ถัง” ตามแนวทางโครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” โดยเริ่มให้ทุกห้องเรียนลดและแยกวัสดุอย่างละเอียด พร้อมทั้งต่อยอดองค์ความรู้เป็นวิธีการ Upcycle ขยะพลาสติกสู่ “อิฐรักษ์โลก” เพื่อขยายผลเป็นวิสาหกิจโรงเรียน-ชุมชนในอนาคต

“เราแปรรูปขยะพลาสติกกำพร้าในโรงเรียน เช่น ซองขนม เปลือกลูกอมบรรจุหีบห่อ หรือที่เป็นขยะแห้ง นำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เข้าสู่กระบวนการทำอิฐรักษ์โลก ที่มีคุณสมบัติ แข็งแรงทนทาน ยืดหยุ่นดี มาปูเป็นลานกีฬาอเนกประสงค์รักษ์โลก เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์กลางสร้างองค์ความรู้การจัดการขยะและคัดแยกวัสดุอย่างถูกต้อง หากดำเนินการต่อเนื่องเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาขยะในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างรายได้จากอิฐรักษ์โลกเข้าสู่โรงเรียนและชุมชนต่อไป” นางภัทรภรกล่าว

น้องแพรว น.ส.ชลลดา บัวสมุย ชั้น ม.6 โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา กล่าวว่า จากการเข้าร่วมโครงการนี้เห็นคุณค่าของขยะมากขึ้น มองเป็นวัสดุชิ้นหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ หลังจากนี้จะเริ่มไปจัดการขยะที่บ้านของ ตัวเอง แยกเป็น 3 ประเภท คือ ขวดพลาสติก ขยะจากเศษอาหาร และขยะพลาสติกทั่วไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน