ถ้าให้พูดถึงกีฬาที่ชาวอเมริกันชื่นชอบ คำตอบลำดับต้นๆ คงจะเป็นอเมริกันฟุตบอล, บาสเกตบอล, เบสบอล, ฮอกกี้น้ำแข็ง หรือแม้แต่มวย ส่วนกีฬาขวัญใจมหาชนทั่วโลกอย่างฟุตบอล ซึ่งชาวอเมริกันเรียกว่าซอคเกอร์ (soccer) เป็นเพียงกีฬาที่ได้รับความนิยมระดับรองลงมาเท่านั้น

ถึงกระนั้น กีฬาซอคเกอร์ในสหรัฐอเมริกาดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายพยายามปลุกเร้ากระแส ทั้งนายทุนที่จ้างสโมสรดังในยุโรปมาเตะพรีซีซั่น หรือสโมสรที่ดึงนักเตะระดับโลกมาร่วมทัพ

นอกจากนี้ ช่วงหลังจะเห็นได้ว่ามีกลุ่มทุนอเมริกันหลายรายเข้าเทกโอเวอร์หรือเข้ามาร่วมถือหุ้นสโมสรในยุโรป และยิ่งไปกว่านั้น ยังมีซูเปอร์สตาร์ในวงการบันเทิงและวงการกีฬาสหรัฐอเมริกาที่เข้ามามีส่วนร่วมกับทีมฟุตบอลไม่มากก็น้อยด้วย

โดยจุดหมายที่คนดังอเมริกันเข้ามามีส่วนร่วมในเกมฟุตบอลนั้นมักจะอยู่ที่ลีกอังกฤษ บุคคลจากวงการบันเทิงมี ไรอัน เรย์โนลด์ส และร็อบ แม็กเอลเฮนนีย์ 2 ซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวู้ด ที่เข้ามาเป็นเจ้าของเร็กซ์แฮมร่วมกัน, ไมเคิล บี. จอร์แดน ร่วมลงทุนกับกลุ่มเจ้าของบอร์นมัธ

ขณะที่นักกีฬา เลอบรอน เจมส์ (บาสเกตบอล) ถือหุ้นลิเวอร์พูล, เจเจ วัตต์ (อเมริกันฟุตบอล) ร่วมลงทุนกับเบิร์นลีย์, จอร์แดน สปีธ และจัสติน โธมัส (กอล์ฟ) ร่วมลงทุนเทกโอเวอร์ลีดส์ ยูไนเต็ด หรือล่าสุด ทอม เบรดี (อเมริกันฟุตบอล) ร่วมลงทุนเบอร์มิงแฮม ซิตี้

ต้องบอกว่านี่เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในวงการกีฬา ทำไมคนดังอเมริกันถึงหันมาลงทุนกับฟุตบอลอังกฤษมากขึ้นเรื่อยๆ?

ประการแรกสุด ชื่อของฟุตบอลอังกฤษสามารถสร้างผลตอบแทนก้อนโตได้ อย่างที่รู้กันว่าพรีเมียร์ลีกนั้นเป็นลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมสูงในระดับหัวแถวของโลก ค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ จึงสูงตามไปด้วย ไหนจะมีค่าบัตรเข้าชมเกมและค่าสินค้าที่ระลึกอีก

ขณะเดียวกัน ชื่อเสียงของคนดังชาวอเมริกันที่โด่งดังไปทั่วโลกจะช่วยกระตุ้นความดึงดูดและมูลค่าของฟุตบอลอังกฤษได้อีกด้วย อย่างเร็กซ์แฮมที่ปกติแล้วไม่มีใครสนใจเท่าไหร่ แต่พอเรย์โนลด์สและแม็กเอลเฮนนีย์เข้ามาเทกโอเวอร์ สโมสรนี้มีกระแสข่าวอยู่เรื่อยๆ

ประการต่อมานักลงทุนสหรัฐอเมริกาเริ่มเล็งเห็นช่องว่างหลายอย่างในตลาดการค้าของอังกฤษ ซึ่งที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดจนทำให้ยังไม่สามารถสร้างรายรับได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

อีกหลายลีกในยุโรปยังปิดกั้นตัวเองไม่เปิดรับอิทธิพลจากภายนอก แม้จะมีเรื่องวัฒนธรรมและมนต์ขลังเป็นจุดขาย แต่ในแง่อุตสาหกรรมกีฬาสหรัฐอเมริกาเหนือกว่ายุโรปอย่างชัดเจน

ไซมอน แชดวิก ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์กีฬาและการเมืองภูมิศาสตร์ ระบุว่านักลงทุนด้านกีฬาสหรัฐอเมริกามองว่าเหล่าสโมสรฟุตบอลยุโรปกำลังอยู่ในจุดที่ไม่คู่ควรกับศักยภาพของทีม ขณะที่แฟนบอลเองมองว่าอยากได้องค์ประกอบต่างๆ ที่ดีกว่านี้

ประการสุดท้าย การมีส่วนร่วมในโลกกีฬา แน่นอนว่าการเป็นนักกีฬานั้นมีช่วงเวลาที่สั้นขณะที่อาชีพนักแสดงไม่ได้มีความแน่นอน และทั้ง 2 อาชีพนี้จะพบว่ามีหลายคนที่ต้องประสบปัญหาการเงินแบบเรื้อรัง

แชดวิกมองว่าผู้ที่เป็นทั้งนักกีฬาและ นักแสดงต่างตระหนักได้ว่าตอนไหนที่ตัวเองอยู่ในจุดสูงสุด และหลังจากนั้นจะไม่เป็นแบบเดิมอีก ดังนั้น หลายคนจึงมองหาการลงทุนที่สร้างรายได้ระยะยาว และวงการกีฬาก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ

ในเมื่อหลายคนมีใจรักในเกมกีฬาอยู่แล้ว และยังมีโอกาสทำเงินจากสิ่งที่รัก แถมการอยู่ในโลกของกีฬายังมีโอกาสที่จะช่วยเหลือสังคม ซึ่งถ้าอยู่ในจุดที่มีแสงส่องชัดเจนพอ การช่วยเหลือสังคมนั้นก็จะช่วยให้แต่ละคนรักษาระดับของชื่อเสียงให้เป็นที่พูดถึงต่อเนื่องไปอีกด้วย

จากเหตุผลทั้งหมดนี้ จึงสามารถสรุปได้ว่ามนต์ขลังและสไตล์การเล่นที่เร้าใจของฟุตบอลอังกฤษ เมื่อนำมาผนวกกับหัวคิดทางการตลาดของกลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกา และชื่อเสียงของเหล่าคนดังระดับโลกชาวอเมริกัน ก็มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนอันยอดเยี่ยมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

หลังจากนี้น่าจับตามองว่าวงการฟุตบอลอังกฤษจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่เด่นชัดอีก ในเมื่อเหล่าคนดังอเมริกันเริ่มพากันเข้ามามีความเกี่ยวข้องแบบนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาดีหรือว่าร้าย ล้วนแต่น่าสนใจจริงๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน