มีความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ จะจับมือเป็นมิตรได้หรือไม่

หากประเมินจากปัญหาและความขัดแย้งอันเกิดขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ก็ตอบได้เลยว่าเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง

จำเป็นต้องมองผ่านตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” ไป

มีความสลับซับซ้อนจากการต่อสู้เพื่อแย่งชิงตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” อย่างยิ่งอยู่แล้ว ลักษณะเอาเป็นเอาตายกับตำแหน่งนี้ยิ่งยอกย้อนซ่อนเงื่อน

ซ่อนเงื่อนถึงปัญหาที่ขัดแย้งกันอย่างลึกจนถึงรากฐาน

จะทำความเข้าใจต่อปมแห่งปัญหาต้องมองประวัติศาสตร์แห่งพรรคประชาธิปัตย์

ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นผลงานของนักการเมืองที่มีรากฐานมาจากพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างเป็นด้านหลัก

แต่เดิมอาจมีภาคเหนือ ภาคอีสานเป็นส่วนประกอบ

แต่ระยะหลังนักการเมืองในภาคใต้เริ่มขยายฐานและแผ่อิทธิพลเข้ามาจนสามารถยึดครองได้จากยุค นายชวน หลีกภัย เป็นต้นมา

การทะยานมาของ นายชวน หลีกภัย ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่

ความซับซ้อนจากยุค นายชวน หลีกภัย เริ่มเห็นในยุค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ด้านหลักการเป็นหัวหน้าพรรคของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อาจมาจากการสนับสนุนของ นายชวน หลีกภัย และ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน

แต่เมื่อตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ก็เริ่มเปลี่ยน

ฐานของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อาจยังอยู่ภาคใต้ แต่ก็เป็นภาคใต้ที่มิได้อยู่ในร่มเงาของ นายชวน หลีกภัย หรือ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อีกแล้ว

นี่ย่อมเป็นการท้าทายต่อ นายชวน หลีกภัย อย่างยิ่ง

การยื้อแย่งตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” คนใหม่คือรูปธรรมอันสะท้อนความขัดแย้ง

เป็นความขัดแย้งที่ยากเป็นอย่างยิ่งในการประนีประนอม เป็นความขัดแย้งที่ส่อแนวโน้มว่าจะพัฒนาและยกระดับไปสู่จุดที่ “แตกหัก”

โดยมีกรณีของพรรคเพื่อไทยมาเป็นจุด “เสี้ยม” อันแหลมคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน