บินลัดฟ้ามาจากแดนปลาดิบ เพื่อเปิดตัวรถปิกอัพ มิตซูบิชิ ไทรทัน ใหม่ ระดับเวิลด์ พรีเมียร์ ครั้งแรกของโลกที่บ้านเรา ว่าแล้ว ‘ข่าวสด ยานยนต์’ไม่พลาดที่จะอัพเดตสถานการณ์ต่างๆ จากปากนายใหญ่ค่ายทรีไดมอนต์ ทาคาโอะ คาโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น มาให้แฟนานุแฟนได้รับทราบโดยทั่วกัน

มั่นใจการตอบรับไทรทันใหม่
เราใช้เวลาพัฒนาค่อนข้างนาน จากความต้องการใช้งานของลูกค้าอย่างแท้จริง ตอบโจทย์ในทุกด้าน ไม่ว่าจะดีไซน์ หรือสมรรถนะ โดยเฉพาะในเมืองไทย ที่เป็นทั้งตลาดสำคัญ และฐานที่มั่นในการผลิตรถปิกอัพ มิตซูบิชิ ไทรทัน เพื่อส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก

ช่วงแรกเปิดตัวเฉพาะรุ่นซิงเกิล แค็บ หรือหัวเดี่ยวแบบขับเคลื่อนสี่ล้อ และดับเบิล แค็บ 4 ประตู ทั้งแบบขับเคลื่อนสองล้อ และสี่ล้อ ซึ่งเป็นโมเดลที่มียอดขายดีมาก เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าคนไทย หลังจากนั้นจึงจะทยอยเปิดตัวรุ่นอื่นๆ จนครบไลน์อัพ รวมถึงรถอเนกประสงค์ที่มีพื้นฐานมาจาก มิตซูบิชิ ไทรทัน ใหม่ด้วย

จะมีรุ่นไฟฟ้าหรือไฮบริดไหม
อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ พร้อมทั้งทดสอบรถต้นแบบในส่วนของรถปิกอัพ ว่าแพลตฟอร์มใดจึงจะเหมาะสมที่สุด ทั้ง ไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือแม้กระทั่งไฟฟ้า 100% คาดว่าต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

เพราะต้องพิจารณาให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังที่เหมาะสม กับการบรรทุกสินค้า สมรรถนะการขับขี่ รวมถึงความสะดวกสบายในการใช้งาน ทุกอย่างต้องสอดคล้องไปด้วยกัน

กำลังการผลิตโรงงานในไทย
ปีนี้ตั้งเป้าว่าจะผลิตรถปิกอัพ มิตซูบิชิ ไทรทัน ใหม่ ให้ได้มากกว่า 200,000 คัน แบ่งเป็นเพื่อการส่งออก 80% และขายในประเทศ 20% โดยตั้งเป้ายอดขายในประเทศ จะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ให้เป็นตัวเลขสองหลักได้ภายในสิ้นปีนี้ จากเมื่อปีที่แล้วทำยอดขายมิตซูบิชิ ไทรทัน ไปได้รวม 20,000 คัน มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณ 5-6%








Advertisement

ตลาดรถยนต์ประเทศไทย
ยอดขายปีนี้ยังต่ำกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก เป็นผลมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องการเมือง ที่ทำให้ทั้งประชาชน และนักลงทุน ชะลอการตัดสินใจ และจับตามองอย่างระมัดระวัง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น หลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 รวมถึงภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ต้องมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ จะเกิดเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น อีกทั้งยังมีอุตสาหกรรมอื่นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจบางตัวยังดีอยู่มาก เรียกว่าตลาดรถยนต์ช้าลง แต่ไม่ถึงกับวิกฤต

ทั้งนี้ เดิมเมื่อต้นปี ประเมินยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยไว้ที่ 870,000-900,000 คัน แต่ถึงวันนี้แล้วมองว่าไม่น่าจะถึง ส่วนจะเป็นเท่าใด ต้องรอประเมินตลาดอีกระยะ เนื่องจากมีรถยนต์รุ่นใหม่ ที่เตรียมเปิดตัวต่อเนื่อง เช่น มิตซูบิชิ ไทรทัน ใหม่

ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดให้คึกคักมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน