แท้จริงแล้ว ปัญหาจาก “ไล่หนู ตีงูเห่า” เป็นปัญหา จาก “ภายใน” ของพรรคเพื่อไทยเอง

ไม่ใช่ปัญหาจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ใช่ปัญหา จากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่ปัญหาจากพรรคภูมิใจไทย ไม่ใช่ปัญหาจากพรรคประชาธิปัตย์

หากแต่มาจาก “ตัวตน” อันเป็นพรรคเพื่อไทยนั้นเอง

มีความจำเป็นต้องย้อนกลับไปยังผลงานและความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยเมื่อผ่านการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2544

ผ่าน “การหาเสียง” และการเป็น “รัฐบาล”

คําถามก็คือ อะไรที่สร้าง “ความแตกต่าง” ให้กับพรรคไทยรักไทยอย่างแทบจะสิ้นเชิง

คำตอบ 1 มาจากชัยชนะอย่างท่วมท้น แม้ไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า “แลนด์สไลด์” แต่ก็ถือว่าเป็นชัยชนะอย่างชนิดว่าขาดลอยต่อพรรคการเมืองรุ่น “ก่อน”

ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทย

อีกคำตอบ 1 ซึ่งกลายเป็น “จุดเปลี่ยน” อย่างแหลมคมและสำคัญอย่างยิ่งยวดในทางการเมืองก็คือ การนำ “นโยบาย” ไปสู่ “การปฏิบัติ” ที่เป็นจริง

นี่คือ “เส้นแบ่ง” อย่างชนิดที่เรียกว่า “เป็น จุดตัด”

ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ พรรคไทยรักไทยสามารถ “ปฏิบัติ” ตาม “นโยบาย” ได้รวดเร็ว คล้อยหลังผลการเลือกตั้งปรากฏ รัฐบาลพรรคไทยรักไทยผ่านกระบวนการอย่างที่รับรู้กันในตอนนั้นว่าคือกระบวนการ “เวิร์กช็อป”

แต่หลังจากนั้น “นามธรรม” แห่งนโยบายก็กลายเป็น “รูปธรรม”

ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่ว่าจะเป็นโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ไม่ว่าจะเป็นการชะลอหนี้ของเกษตรกร

ความสำเร็จทั้งหมดนี้จึงกลายเป็น “รากฐาน” อันแข็งแกร่ง

ความสำเร็จเหล่านี้เองที่ต่อเนื่องถึงพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย

ไม่ว่าจะรัฐประหาร ไม่ว่าจะยุบพรรคการเมือง จากพรรคไทยรักไทย สู่พรรคพลังประชาชน และถึงพรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นชัยชนะ

ตรงนี้แหละที่ต่อมา“ไล่หนู ตีงูเห่า” จึงกลายเป็น “คำถาม”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน