หลังประสบปัญหาหนักจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เมื่อ 2-3 ปีก่อน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหมากและมะพร้าวในพื้นที่ ต.บางตีนเป็ด อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ต้องเผชิญกับราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่สามารถออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้ จากที่เคยส่งหมากสดและหมากแห้งไปขายต่างประเทศ เช่น อินเดีย เมียนมา และไต้หวัน

ดังนั้น เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้ส่วนราชการต่างๆ นำโดยกรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาสนับสนุนแปลงใหญ่หมากและมะพร้าวตำบลบางตีนเป็ด

ให้องค์ความรู้ในการบริหารจัดการสวน การเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน การแปรรูป การตลาด และการรวมกลุ่ม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์จากหมากและมะพร้าวสร้างงานสร้างรายได้ให้เกษตรกรเช่นเดิม

นายดนัย ปัญจพิทยากุล เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า แปลงใหญ่หมากและมะพร้าวตำบลบางตีนเป็ดมีสมาชิก 32 ราย พื้นที่ปลูก 233 ไร่ ผลผลิตจากหมากประมาณ 100 ตันต่อปี มะพร้าวประมาณ 10 ตันต่อปี ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นหมากสด หมากแห้ง มะพร้าวสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า

การสนับสนุนส่วนใหญ่เป็นเรื่ององค์ความรู้และการรวมกลุ่มให้เข้มแข็ง ภายใต้เป้าหมายสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่า การตลาด และ การบริหารจัดการ

เพื่อให้เกษตรกรเกิดอำนาจต่อรองด้านราคา พร้อมสนับสนุนการแปรรูปสินค้ารูปแบบต่างๆ ที่มีความหลากหลาย รวมถึงช่องทางการตลาดออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกมีรายได้ตลอดทั้งปี








Advertisement

น.ส.จริยา นิยมพานิช เกษตรอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ปี 2563 เกษตรกรประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ จึงเข้าไปส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่

กระทั่งปี 2566 แปลงใหญ่จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองฉะเชิงเทราเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรนำวัตถุดิบเหลือใช้ภายในสวนสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายภายใต้แนวทาง BCG โมเดล มุ่งการสร้างมูลค่า ลดของเสียให้เป็นศูนย์และมีความสมดุลอย่างยั่งยืน

เช่น กาบหมากที่เดิมร่วงหล่นอยู่ตามพื้น เกษตรกรนำมาอัดขึ้นรูปเป็นจานชามกาบหมาก กลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ได้รับความสนใจจากลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบการอนุรักษ์ธรรมชาติ

รวมถึงการนำกาบหมากมาทำกระเป๋าสาน รองเท้า การนำเศษหมากแห้งมาใช้ทำสีย้อม เป็นผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม ทั้งเสื้อ ผ้าเช็ดหน้า หมวก และกระเป๋า นอกจากนี้ยังส่งเสริมเกษตรกรพัฒนาคุณภาพสินค้า และผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน สร้างความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์

ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นขอรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ ส่วนจานและชามที่ทำจากกาบหมาก และผ้ามัดย้อม ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว

ด้านการตลาด นอกจากเกษตรกรจะออกร้านตามงานต่างๆ ทางกลุ่มยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านทางออนไลน์ในเพจเฟซบุ๊ก “Landmark แลนด์หมาก” เพื่อเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น

ผลิตภัณฑ์จากหมากและมะพร้าวเป็นจุดเด่นของชาวบางตีนเป็ด เพราะสามารถใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดเป็นมูลค่าได้

นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง เกษตรกรหลายรายมีความสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ในการแปรรูป และสร้างผลิตภัณฑ์จากหมากและมะพร้าวให้กับเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ หรือประชาชนที่สนใจทั่วไปได้

“ถือเป็นจุดเด่นและเป็นต้นแบบให้เกษตรกรผู้ปลูกหมากและมะพร้าวในจังหวัดอื่นนำไปเป็นแบบอย่าง ในอนาคตคาดว่าชุมชนบางตีนเป็ดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา” เกษตรอำเภอฉะเชิงเทรา กล่าว

ขณะที่ นายเดชเดชา ชุนรัตน์ ประธานแปลงใหญ่หมากและมะพร้าวตำบลบางตีนเป็ด กล่าวว่า การรวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้หมากและมะพร้าวเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน

เริ่มจากการนำหมากแห้งมาทำเป็นสีย้อมและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ผ้ามัดย้อม เสื้อ หมวก กระเป๋าถือ ถุงผ้า และยังนำกาบหมากที่ร่วงหล่นตามโคนต้นมาแปรรูปทำเป็นภาชนะจาน ชามใส่อาหาร สานเป็นกระเป๋ากาบหมาก ล่าสุดที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาใหม่เป็นรองเท้ากาบหมาก นำไปออกร้านในงานต่างๆ

“ปัจจุบันมีสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา และสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เข้ามาให้ความรู้และส่งเสริมด้านการดูแลแปลง เช่น เข้ามาช่วยตรวจสอบคุณภาพดิน แนะนำการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับดินว่าขาดแร่ธาตุชนิดใด และต้องเติมเข้าไปจำนวนเท่าไหร่ จึงจะทำให้ประหยัดต้นทุนการใช้ปุ๋ยได้ และยังมีการอบรมการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพให้ด้วย เป็นความรู้ที่ช่วยเกษตรกรได้มาก เมื่อเรารู้จักการให้ปุ๋ยและผลิตปุ๋ยได้เอง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก”

นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เข้ามาช่วยเหลือให้ยืมเครื่องขึ้นรูปภาชนะในการปั๊มขึ้นรูปจานชามที่ทำด้วยกาบหมากในระยะเริ่มต้น ส่วน อบต.บางตีนเป็ด ได้ประสานศูนย์ส่งเสริมการ เรียนรู้อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ให้มาช่วยอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการมัดย้อม

ในอนาคตทาง อบต.เตรียมจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนซื้อเครื่องปั๊มขึ้นรูปจานและชามกาบหมาก และจะก่อสร้างโรงเรือนให้เป็นที่ทำการของกลุ่มอย่างถาวรด้วย

ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เข้ามาสอนเกี่ยวกับวิธีการทำสีจากหมากแห้ง ให้ออกมาตรงตามต้องการและติดเนื้อผ้าได้อย่างยาวนาน

สําหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ประกอบด้วย หมากสด หมากแห้ง จานและชามกาบหมาก ร้องเท้ากาบหมาก กระเป๋า เครื่องจักสานต่างๆ ผลิตภัณฑ์มัดย้อมจากสีหมาก

มะพร้าวอ่อน มะพร้าวแก่ มะพร้าวแก้ว น้ำมะพร้าวปั่น น้ำมะพร้าวสด และต้นพันธุ์หมากและมะพร้าว โดยได้ออกร้านจำหน่ายในงานต่างๆ ได้รับความสนใจจากลูกค้าพอสมควร

ล่าสุดวางจำหน่ายทางออนไลน์ในเพจ เฟซบุ๊ก เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและประชาสัมพันธ์สินค้าให้รู้จักเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น หลังจากเปิดขายในเพจ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า

ในอนาคตคาดหวังว่าผลิตภัณฑ์หมากและมะพร้าวจะได้รับความนิยมจากลูกค้าภายในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน

“ส่วนเรื่องรายได้ของสมาชิกในกลุ่ม แม้จะไม่ได้มากเหมือนก่อนสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็พออยู่ได้ โดยคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นเมื่อสื่อต่างๆ ให้ความสนใจ”

ใครสนใจอุดหนุนกันได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “Landmark แลนด์หมาก”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน