ผู้บริหารร้านกาแฟอเมซอน ดอดคุยกระทรวงเกษตรฯ ขอนำเข้ากาแฟ หลังผลผลิตไม่พอ 6 หมื่นตัน/ปี จ่อทำ Contract farming หวังสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

นายธิติ โลหะปิยะพรรณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่าน นายดิษทัต ปันยารชุน ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (โออาร์) ซึ่งเป็น ผู้บริหารกิจการ “คาเฟ่ อเมซอน” ได้เข้าพบผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเจรจาขอนำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศ เนื่องจากเมล็ดกาแฟ ในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยความต้องการในประเทศมีประมาณ 60,000-80,000 ตัน แต่ผลิตได้เพียง 20,000 ตัน

ดังนั้นกระทรวงต้องเร่งสำรวจ ว่าผลผลิตทั่วประเทศมีปริมาณ เท่าไหร่ เพราะหากเอกชนต้องการนำเข้าเมล็ดกาแฟ ต้องรับซื้อผลผลิตในประเทศให้หมดก่อน เพื่อไม่กระทบเกษตรกรในประเทศที่ปลูกกาแฟ

ทั้งนี้ จากผลผลิตกาแฟในประเทศไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมีการ นำเข้าจากต่างประเทศตามความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจกาแฟ มากถึง 6 หมื่นตัน/ปี กระทรวงเกษตรฯ จึงมีนโยบายส่งเสริมการปลูกกาแฟเพื่อทดแทนการนำเข้า เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย และการดำเนินการส่งเสริมการปลูกกาแฟ ควรทำในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) และจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกร กับภาคเอกชน

โดยกระทรวงเกษตรฯ ต้องเร่งสำรวจปริมาณคงเหลือ ผลผลิตกาแฟในประเทศก่อนที่จะดำเนินการนำเข้า เพื่อไม่ให้เกษตรกรเสีย ผลประโยชน์ และควรเริ่มด้วยโครงการนำร่องก่อน

“ช่วงหลายปีที่ผ่านมาทุเรียนและปาล์มน้ำมันมีราคาสูง ส่งผลให้เกษตรกรเลิกปลูกกาแฟ หันมาปลูกทุเรียนและปาล์มน้ำมันแทน ส่งผลให้ผลผลิตกาแฟในประเทศลดลง โดยเนื้อที่เพาะปลูกปี 2566 มีประมาณ 176,165 ไร่ ลดลง 13.14% จากปี 2565 ที่มีพื้นที่เพาะปลูก 202,812 ไร่ แบ่งเป็นพันธุ์ โรบัสต้า พื้นที่ 75,209 ไร่ ลดลง 26.94% จากปีก่อนมีพื้นที่ 102,935 ไร่ พันธุ์อาราบิก้า 100,966 ไร่ เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 1.08% จากปีก่อนที่มีพื้นที่ 99,877 ไร่”

ทั้งนี้ ปี 2566 ทั่วประเทศมีผลผลิตกาแฟรวม 15,496 ตัน ลดลง 17.09% จากปี 2565 ที่มีผลผลิต 18,689 ตันแบ่งเป็นผลผลิตพันธุ์ โรบัสต้า จำนวน 6,833 ตัน ลดลง 28.48% จากปี ก่อนมีผลผลิตจำนวน 9,554 ตัน พันธุ์อาราบิก้า มีผลผลิต 8,662 ตันลดลง 5.18% จากปีก่อนมีผลผลิต 9,135 ตัน

“กาแฟโรบัสต้า ปลูกในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ระนอง และเลย เมื่อราคาทุเรียนปรับตัวสูงขึ้น ต่างประเทศนิยมรับประทานและนำเข้า และราคาปาล์มน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ชาวสวนเลิกปลูกกาแฟ หันไปปลูกทุเรียนแทน ทำให้ผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าจำนวนมาก”

ทั้งนี้ มอบให้กรมวิชาการเกษตร ประสานโออาร์ เรื่องเงื่อนไข การรับซื้อผลผลิต เพื่อความเป็นธรรมต่อเกษตรกร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน