เทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิดตัว Open AI อย่าง ChatGPT หุ่นยนต์แช็ตบ็อต (Al Chatbot) ที่สามารถพูดคุยโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือโลกเข้าสู่ยุคเอไอแล้ว ประเทศไทยพร้อมรับมือไหม? เป็นคำถามและชื่อของหนึ่งในสองงานเสวนาวิชาการที่จุฬาฯ จัดขึ้น ส่วนอีกงานหนึ่งชื่อ “จุดยืนจุฬาฯ นำการศึกษารุดหน้าด้วย Generative AI” การเสวนาวิชาการทั้งสองงานมีเป้าหมายเพื่อชี้ชวนให้คนในสังคมเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จาก AI รวมถึงนำเสนอข้อคิดและแนวทางในการเตรียมความพร้อมในการอยู่ในยุคเอไอ

AI Literacy หนึ่งใน 3 สมรรถนะสำคัญของมนุษย์ในอนาคต

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย รักษาการผอ.สถาบันนวัตกรรมบูรณาการ จุฬาฯ ราชบัณฑิต แสดงทัศนะในงานเสวนาวิชาการ “ยุคเอไอได้มาถึงแล้ว ประเทศไทยพร้อมรับมือไหม?” ว่า “เอไอจะอยู่กับเราตลอดไป หากไม่พัฒนาคนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอไอ เราจะก้าวไม่ทันโลก โดยเฉพาะในอนาคตหากเอไอเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมและการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ มากขึ้น เอไอจะสร้างงานได้อย่างมหาศาล โดยไม่ต้องใช้แรงงานคน ซึ่งถ้าไม่มีการเตรียมคนให้มีความรู้เรื่อง เอไอในอนาคตอาจทำให้คนตกงานได้

หลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้แล้ว ส่วนประเทศไทย ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์กล่าว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยต้องหันมาให้ความสนใจกับการกำหนดหา “ที่ยืนของประเทศไทยในโลกแห่งอนาคต” เพื่อเผชิญกับพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคเอไอ

จากวันนี้ไปนับเป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญและเป็นโจทย์อันท้าทายสำหรับจุฬาฯ ที่จะปูพรมพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ เพื่อให้ประชากรไทยมี Al Literacy อีกทั้งต้องปลูกฝังระบบนิเวศการศึกษาและการวิจัยด้านเทคโนโลยี เอไอ

ด้าน รศ.ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล ผอ.สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ ชวนให้เรามองเอไอในมุมบวกที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพมนุษย์ เราอาจต้องขยายขอบเขตความ รับผิดชอบของตัวเองให้ขยับไปสู่งานอื่นหรืองานใหม่ๆ ที่ยากขึ้น ต้องหมั่นพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี








Advertisement

ในการเสวนาวิชาการ “Chula the Impact ครั้งที่ 19” เรื่อง “จุดยืนจุฬาฯ นำการศึกษารุดหน้าด้วย GENERATIVE AI” รศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ ผอ.ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ กล่าวนำเสนอความก้าวหน้าของจุฬาฯ ในการบุกเบิกการนำนวัตกรรม เจเนอเรทีฟ เอไอ เข้ามาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับคณาจารย์และนิสิตในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

“เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์แบบ เจเนอเรทีฟ เอไอ เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากในยุคปัจจุบัน เพราะศักยภาพในการสร้างเนื้อหา รูปภาพ และการเขียนโค้ดต่างๆ ทำให้คนทำงานได้ง่ายขึ้น นับเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มโอกาสในธุรกิจ การศึกษา และกระบวนการทำงานในหลายอาชีพด้วย เช่น ศิลปะ” รศ.ดร.โปรดปราน กล่าวและได้ยกตัวอย่างการใช้เครื่องมือ ChatGPT ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม การเรียนการสอน เช่น กิจกรรม Chula Lunch Talk

ทั้งนี้ รศ.ดร.โปรดปราน ได้กล่าวถึงแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาฯ เพื่อดูแลและกำกับการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม สอดคล้องกับหลักจริยธรรม และเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน โดยแบ่งเป็น 3 หมวดสำคัญ ดังนี้

1การเรียนการสอนและการประเมินผล 2.การใช้งานเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ และ 3.การปกปิดความลับและข้อมูลส่วนบุคคล

“โลกในยุคเอไอ จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรเป็นเรื่องที่ท้าทาย ยากจะคาดเดา และน่าติดตามอย่างยิ่ง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน