สภาพัฒน์หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3% เซ่นพิษ ส่งออกหดตัวติด 3 ไตรมาสคาด -1.8% หวังบริโภค-ท่องเที่ยวพยุง จับตาการเมืองไม่นิ่ง หวั่นซ้ำเติมอีก

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2566 ลงเหลือ 2.5-3.0% จากเดิมคาด 2.7-3.7% โดยปัจจัยเกิดจากการหดตัวของการส่งออกอย่างต่อเนื่องถึง 3 ไตรมาส ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ คาดการส่งออกไทยจะขยายตัว -1.8% จากเดิมคาดไว้ที่ -1.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงมาที่ 1.7-2.2% จากเดิม 2.5-3.5%

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2566 ขยายตัว 1.8% ชะลอลงจากการขยายตัว 2.6% ในไตรมาส 1/2566 เมื่อรวมครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 2.2%

“คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชน ที่คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 5% จากเดิมจะอยู่ที่ 3.7% และการท่องเที่ยวปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 28 ล้านคนเท่ากับประมาณการเดิม ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยว ปรับลดลงมาที่ 1.03 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.27 ล้านล้านบาท”

นายดนุชากล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงในปี 2566 ได้แก่ 1.การเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ 2.เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าคาด และความผันผวนในตลาดการเงินโลก 3.ภาระหนี้สินครัวเรือนและ ภาคธุรกิจ ที่ยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางภาระดอกเบี้ย ที่เพิ่มขึ้น 2.ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่ง ผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร

การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 ควรให้ความสำคัญกับ 1.การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจ การเมืองภายในประเทศ 2. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและ การลงทุนภาครัฐ โดยต้องเร่งเบิกจ่ายจากงบรายจ่ายเหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจที่เป็นงบผูกพัน ซึ่งมีอยู่ราว 1 แสนล้านบาท ในช่วงที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังมีความล่าช้า คาดจะเริ่มเบิกจ่ายได้เม.ย. 2567

3. การสนับสนุนการท่องเที่ยว 4.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร 5.ขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า เพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และ 6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริม การลงทุนในช่วงปี 2563-2565 ให้เกิดการลงทุนจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน