“บ้านของหนูอยู่ตรงนี้ค่ะ ชุมชนสุริยมุนี มีเด็กๆ เยอะเลยค่ะ”

เสียงเจ้าบ้านตัวน้อย เด็กหญิงกริ๊ง มะลิวรรณ เรืองเกษม บอกเล่าด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำเมื่อถูกสอบถามถึงเรื่องราวของ “ชุมชนสุริยมุนี” ที่คุ้นเคย

ชุมชนหลวงพ่อสุริยมุนี หรือหลวงพ่อคอหัก เป็นชุมชนขนาดกะทัดรัด ในต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสถานีรถไฟอยุธยา บ้านเรือนโอบล้อมวิหารหลวงพ่อสุริยมุนี จรดชายคลองข้าวเม่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย หาบเร่บนรถไฟ มีทั้งอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ไปจนถึงผลไม้ ใช้ชีวิตบนรถไฟเหมือนบ้านหลังที่สอง เพราะเป็นแหล่งทำมาหากินเลี้ยงดูครอบครัวมาหลายรุ่นหลายสมัย มีวิหารหลวงพ่อสุริยมุนีเปรียบเป็นศูนย์รวมใจที่ชุมชน ชาวบ้าน และเด็กๆ นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์

น้องสอง อภิชาติ เรือนแจ้ง เด็กชายวัยประถม 6 สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนตนเอง ได้ยินเรื่องเล่าของหลวงพ่อสุริยมุนีมาตั้งแต่จำความได้

“เมื่อก่อนเศียรของหลวงพ่อไม่มี เลยเรียกกันว่าหลวงพ่อคอหักครับ ชาวบ้านช่วยกันบูรณะ เลยเปลี่ยนชื่อเป็นหลวงพ่อสุริยมุนี ใครมาขออะไรก็จะได้สิ่งนั้นตามที่ขอ วันสงกรานต์ วันครบรอบหลวงพ่อ ชุมชนเราก็ทำบุญ คนลงจากรถไฟก็มา กราบไหว้หลวงพ่อกันครับ”

ภายในวิหารหลวงพ่อสุริยมุนีมีพระพุทธรูปหลายองค์ ส่วนใหญ่พบกระจัดกระจายในทุ่งนาป่าพงราว 90 ปีก่อน นายสถานี รถไฟอยุธยาและชาวบ้านนำมารวมกันไว้ พระประธานในวิหาร พระพุทธรูปหินทรายสีเขียวปางนาคปรก ศิลปะแบบทวารวดี อายุประมาณพันปี มีคุณค่าเชิงหลักฐานโบราณคดี ศิลปกรรม และประวัติศาสตร์

นักโบราณคดียังค้นพบหลักฐานว่าบริเวณสถานีรถไฟและบ้านของเด็กๆ คือส่วนหนึ่งของเขตเมืองเก่าอโยธยา เมืองเก่าโบราณ มีมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ชื่อว่าเมือง “อโยธยาศรีรามเทพนคร”

ระยะนี้หลายคนหลายฝ่ายเป็นกังวลใจเพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะใช้เส้นทางคาบเกี่ยวพาดผ่านเมืองเก่าอโยธยาราว 4-5 กิโลเมตร การก่อสร้างวางเสาตอม่อขนาดใหญ่ ยกระดับขยายพื้นที่จากรางรถไฟเดิมมากกว่า 40 เมตร กินพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟ ต้องมีการไล่รื้อ และกระทบกับโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขุดค้นทางวิชาการ ชุมชนใกล้รางรถไฟคงมีบรรยากาศที่เปลี่ยนไป วิหารหลวงพ่อคอหักจะถูกย้ายหรือไม่ วิถีชุมชนสังคมที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางบวกทางลบที่ต้องทบทวนหาทางออกร่วมกัน

เด็กๆ ในชุมชนรับรู้ปัญหาความไม่มั่นคงและเกิดเป็นคำถามมากมาย แต่สำหรับความผูกพันของผู้ที่เกิดภายใต้ชายคาที่คอย คุ้มฟ้าคุ้มฝน คงจะเป็นเรื่องที่ทำใจลำบากหากต้องจาก “บ้าน” ของตน

“ถ้าต้องย้ายบ้านก็รู้สึกเสียใจค่ะ ไม่ได้อยู่กับเพื่อน ไม่ได้เล่นกับเพื่อน แม่ก็อาจจะขายของลำบากขึ้น”

“เราเกิดที่นี่ โตที่นี่ ก็รู้สึกว่าไม่อยากจากไปเลยครับ ชุมชนเราสนิทชิดเชื้อกัน ถ้าเราต้องย้ายไปที่อื่น ก็ไม่รู้ว่าคนอื่นเขาจะเป็นอย่างไรบ้างครับ” คือความรู้สึกของสองเด็กน้อยที่มีต่อบ้านและชุมชนของพวกเขา

จะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อโครงการขนาดใหญ่กำลังแล่นเข้าใกล้พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ติดตามชมเรื่องของรถไฟไฮสปีดกับเมืองเก่าอโยธยา ผ่านสายตาของเด็กๆ ชุมชนสุริยมุนี กับพี่ๆ นักอนุรักษ์คนรุ่นใหม่ เครือข่าย SAVE อโยธยา ในทุ่งแสงตะวัน ตอน ริมราง อโยธยา เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33 และเวลา 07.30 น. ทางเพจเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน และยูทูบ payaiTV

กนกวรรณ อำไพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน