คําว่า มนุษย์ หรือที่เราเรียกกันว่า คน น้อยนักที่จะรู้ความหมาย

มนุษย์ แปลได้ 3 ความหมายด้วยกัน คือ แปลว่า ชนผู้เป็นเหล่ากอแห่งมนุษย์ ชนผู้รู้ซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ชนผู้มีใจสูง

ในทางพระพุทธศาสนา แบ่งมนุษย์ออกได้ 4 ประเภท คือ

1.มนุษย์เปรต พวกนี้มีร่างกายที่สมมติกันว่าเป็นคน แต่ว่าจิตใจนั้นคล้ายกับเปรต เพราะว่าเปรตนั้นมีแต่ความหิวโหย พอเห็นสิ่งใดก็คิดว่าเป็นอาหารของตัวเองไปหมด ไม่ยอมแบ่งให้แก่คนอื่น กินไม่รู้จักอิ่ม อย่างเช่น ผู้มีอำนาจที่คอยแต่หาผลประโยชน์ พอมีช่องทางก็คอยแต่หาผลประโยชน์เข้าใส่ตัว ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและบ้านเมือง

2.มนุษย์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานทุกชนิดมีความปรารถนาเป็นเครื่องนำ อยากกิน อยากนอน อยากถ่าย ไม่คำนึงว่าที่ควร หรือที่ไม่ควร สัตว์เดรัจฉานจึงเป็นจำพวกไม่รู้เดียงสา ไม่รู้ดีไม่รู้ชั่ว ไม่รู้จักยุติธรรม หรืออยุติธรรม และสำคัญยิ่งคือไม่รู้จักละอายด้วย คือ หาหิริโอตตัปปะไม่ได้ เมื่อไม่มีหิริและโอตตัปปะแล้วย่อมกระทำความชั่วได้ต่างๆ เมื่อไม่รู้จักความดีเสียแล้วมากระทำความชั่วก็ต้องได้ผลของกรรมชั่ว เข้าไปอยู่ในคุก ในตารางบ้าง หรือถูกเพื่อนมนุษย์เขารังเกียจเหยียดหยามทั่วไป ต้องเที่ยวลักเที่ยวปล้นเที่ยวขโมย มีชีวิตที่เศร้าหมอง หาความเจริญไม่ได้

3.มนุษย์สัตว์นรก คำว่านรก แปลว่า สถานที่ที่ปราศจากความสุขความเจริญ และเป็นสถานที่มีแต่ความเร่าร้อน มนุษย์จำพวกนี้มีแต่ความเร่าร้อน ไม่มีความสุข ถึงแม้ว่าจะมีร่างกายเป็นคน แต่ว่าจิตใจของเขานั้นมีแต่ความเร่าร้อน ลุกเป็นไฟอยู่สม่ำเสมอ อย่างเช่นพวกที่คอยคิดอิจฉาริษยาคนที่เขากระทำความดีอยู่เสมอ เมื่อเห็นเขาทำความดีก็คอยจะใส่ร้ายเขาอยู่ตลอดเวลา พวกนี้วันวันหนึ่งคอยคิดแต่อิจฉา จนมีจิตใจที่กระสับกระส่าย

4.มนุษย์แท้ มนุษย์จำพวกนี้มีร่างกายที่เขาสมมติว่าเป็นคน แต่มีจิตใจที่มีคุณธรรม ที่เรียกกันว่ามนุษยธรรม มนุษยธรรมนั้น คือ ความรู้จักเคารพสมมติของผู้อื่น คือเรียนรู้สมมติว่า ผู้นี้เป็นบิดา ผู้นี้เป็นมารดา คนนี้เป็นพี่ คนนี้เป็นน้อง คนนี้เป็นญาติ คนนี้มีตำแหน่งอะไรหน้าที่อย่างไร แล้วก็เคารพ ในสมมตินั้น ปฏิบัติตามสมมติให้บริบูรณ์ เราจึงเรียกว่ามนุษย์ที่แท้โดยสมบูรณ์

ดังนั้น ถ้าพูดตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงอัธยาศัยน้ำใจและความประพฤติของผู้ที่เป็นพรหม เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นเดรัจฉาน เมื่อถือเอาหลักธรรม คือ ความประพฤติปฏิบัติเป็นเครื่องหมายดังนี้แล้ว ในตัวบุคคลผู้เดียวนั้นอาจจะเป็นได้ทุกอย่าง ทั้งที่ดีและไม่ดี คืออาจจะเป็นพรหมใน บางขณะ เป็นเทวดาในบางขณะ เป็นมนุษย์ เสมอๆ และกลายเป็นสัตว์เดรัจฉานไปในบางขณะที่จิตใจต่ำลงไป เป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเป็นสัตว์นรกในบางขณะ หรืออาจเป็นเอานานๆ ตั้งหลายๆ ปีก็ได้

ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงควรพิจารณาว่า เมื่อเราเกิดมาแล้ว มีร่างกายที่เขาสมมติกันว่า เป็นคน ควรจะเลือกเป็นมนุษย์ประเภทไหน

พระศรีศาสนโมลี
(สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9)
วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
www.watdevaraj.org

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน