กทม. – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีขยะตกค้าง ว่าปัจจุบันพบปัญหา ประกอบด้วย

1.จำนวนรถเก็บขยะเพียงพอสำหรับการเก็บขยะเฉลี่ย 10,000 ตันต่อวัน (กรณีใช้สองรอบทุกคัน) 2.จำนวนพนักงานขับรถเก็บขยะมูลฝอย ขาด 26 เขต / เกิน 23 เขต / เหมาะสม 1 เขต 3.พนักงานเก็บขยะ ขาด 29 เขต / เกิน 21 เขต 4.กลุ่มเขตชั้นนอกโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ตะวันออก ขาดกำลังคนมากที่สุด รองลงมาได้แก่ กรุงเทพฯ เหนือ 5.เขตชั้นนอกยังไม่สามารถเพิ่มรอบเก็บสองรอบต่อสัปดาห์ ได้ทั้งหมด 6.การกำหนดจุดพักขยะในหมู่บ้านจัดสรร กฎหมายไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจน 7.แฟลตรุ่นเก่าทิ้งขยะลงปล่อง เจ้าหน้าที่เขต ต้องเข้าไปโกยเอง (เจ้าของอาคารต้องอำนวยความสะดวก)

กรุงเทพมหานครจึงมีแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดเก็บขยะ ดังนี้ 1.ปรับเกลี่ยอัตรากำลังบุคลากรเกษียณอายุราชการปี 2566 จากเขต ที่เกินไปยังเขตที่ขาด 2.ปรับจำนวนรถจากเขตที่มากเกินไปยังเขต ที่ได้รับบุคลากรเพิ่ม 3.สำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) ส่งพื้นที่เก็บขยะ ให้เขตที่มีอัตราบุคลากรเกิน และส่งรถและบุคลากรไปสนับสนุน เขตที่ขาด 4.สำนักงานเขตปรับเส้นทางรถเก็บขนมูลฝอยให้เหมาะสมกับขนาดบรรทุกของรถ 5.สำนักงานเขตออกประกาศกำหนดจุด ทิ้งขยะ เช่น วันเวลาทิ้ง เพื่อให้ทิ้งขยะตามจุดที่กำหนดในวันเวลา ที่กำหนด 6.สำนักงานเขตปรับปรุงแผนให้จัดเก็บขยะ 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ระบุพื้นที่ วันเก็บ เวลาจัดเก็บให้ชัดเจน 7.ส่งเสริมให้หมู่บ้านจัดสรรจัดที่พักขยะหรือจุดพักขยะเพื่อลดการบริการเก็บรายบ้าน

ทั้งนี้ กทม.มีพนักงานขับรถเก็บขนมูลฝอย กรอบอัตรา 2,594 อัตรา สำรอง 113 คน รวม 2,707 คน ต้องการใช้ 2,725 คน เกษียณ 44 เขต 106 คน ตัดจากเขตที่อัตราเกิน 22 เขต 54 คน เพิ่มอัตราให้เขตที่ขาดกำลังคน 13 เขต 54 คน ขณะที่มีพนักงานทั่วไปเก็บขยะมูลฝอย กรอบอัตรา 7,770 อัตรา ต้องการใช้ 8,004 คน เกษียณ 48 เขต 192 คน ตัดจากเขตที่อัตราเกิน 21 เขต 100 คน เพิ่มอัตราให้เขตที่ขาดกำลังคน 12 เขต 100 คน โดยกรุงเทพมหานครจะเริ่มปรับเกลี่ยอัตรากำลังบุคลากรเกษียณอายุราชการปีภายใน 1 เดือนนับจากเดือนก.ย.2566 และคาดว่าจะแก้ปัญหาขาดอัตรากำลังและปัญหาการจัดเก็บขยะได้ภายใน 3 ปี

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการเขตมีอำนาจออกประกาศตามข้อบังคับกรุงเทพมหานครปี พ.ศ.2545 และ คำสั่ง กรุงเทพมหานครที่ 3305/2545 เพื่อเป็นแนวทางจัดเก็บมูลฝอย ในหมู่บ้านจัดสรร ประกอบด้วย

1.การดำเนินการระยะสั้น หมู่บ้านจัดสรรที่ได้รับอนุญาตก่อนปี 2563 สำนักงานเขตแจ้งให้หมู่บ้านมีที่พักรวมมูลฝอย หากไม่มี ต้องกำหนดวันเวลาจัดเก็บและจุดทิ้งในพื้นที่ หรือในที่ที่สำนักงานเขตกำหนด และให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกในการเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต

ส่วนในระยะยาว จะมีการออกกฎหมายกำหนดให้หมู่บ้านจัดสรร ต้องมีที่พักรวมมูลฝอย ปัจจุบันอยู่ระหว่างยกร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการจัดการมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดโดยจะพิจารณากำหนดให้หมู่บ้านจัดสรรต้องจัดให้มีที่พักรวมมูลฝอยและกำหนดโทษสำหรับ ผู้ฝ่าฝืนข้อบัญญัติฯ 2.หมู่บ้านจัดสรรที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินตั้งแต่ปี 2563 กำหนดให้นิติบุคคล หรือ ผู้ดูแลหมู่บ้านจัดสรรดำเนินการ ตามแผนผังการจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาต ซึ่งต้องมีที่พักรวมมูลฝอย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน