หลังจากประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา

การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าเสร็จสมบูรณ์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตามที่นายกฯ คนใหม่วางแพลนไว้

แต่ต้องยอมรับว่า หลายตำแหน่งที่มีชื่อ ‘ว่าที่รัฐมนตรี’ ปรากฏออกมานั้น ย่อมมีทั้งคนถูกใจ และไม่ถูกใจ

สาธิต ปิตุเตชะ

สาธิต ปิตุเตชะ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรักษาการ รมช.สาธารณสุข มองว่า การจัดสรรโควตารัฐมนตรีของรัฐบาลเพื่อไทย บางกระทรวงไม่ได้ใช้ คนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนั้นดูแล

แต่ก็มีบางกระทรวงที่จัดคนที่มีความสามารถเฉพาะทาง ยกตัวอย่าง กระทรวงสาธารณสุข ได้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นหมอมีประสบการณ์ เคยเป็น รมช.สาธารณสุข แต่รอบนี้มาเป็น รมว.สาธารณสุข ก็ถือว่าดี

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้จัดสรรกระทรวงยุติธรรม ถือว่าใช้ได้ เพราะเคยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม แต่มีบางกระทรวงที่เป็นข้อยุติแล้ว แต่จัดสรรคนไม่เหมาะกับงาน

อย่างไรก็ตาม มองว่าในภาพรวมของ ครม. เศรษฐา 1 ถือว่า พอใช้ได้

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย

ขณะที่ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การเดินหน้า ของรัฐบาลที่มีนายเศรษฐาเป็นนายกฯ จะมุ่งเน้น หารายได้จากการท่องเที่ยว มาเป็นตัวจักรสำคัญต่อการขับเคลื่อน เศรษฐกิจไทย เนื่องจากการส่งออกของเรายังติดลบ อีกทั้งมีการลงทุนเข้ามาไม่มาก ดังนั้น การท่องเที่ยวจะช่วยกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ เป็นอย่างดี

สำหรับว่าที่รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาคนใหม่ ที่มีชื่อ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล มาเป็นรัฐมนตรีนั้น เชื่อว่าพรรคคงคัดสรรมาแล้ว อีกทั้งยังมีทีมงานของพรรค มีที่ปรึกษาและเลขานุการรัฐมนตรี ที่จะมาช่วยขับเคลื่อน โดยเฉพาะนโยบายต่างๆ ที่จะมีข้าราชการประจำเสนอว่าสิ่งไหนควรทำอย่างต่อเนื่อง

สิ่งสำคัญมากๆ นั่นคือ ครม.จะต้องทำงานกันเป็นทีมและจะต้องพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยเร็ว ผมคิดว่านายกฯ และพรรคร่วมคัดสรรตัวรัฐมนตรีมาแล้วก็ต้องให้ความไว้วางใจและเชื่อว่าฟื้นเศรษฐกิจได้

เมธา มาสขาว

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) มองว่า การจัดวางตัวบุคคลเข้ามาเป็นรัฐมนตรี มาจาก 2 กลุ่มใหญ่ 1.กลุ่มนักการเมืองที่มีอำนาจในพรรคต่างๆ เช่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรครวมไทยสร้างชาติ 2.กลุ่มนายทุน ที่ถูกดันขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี

การแบ่งโควตารัฐมนตรี ไม่ได้แบ่งจากความสามารถ แต่แบ่งตามโควตานักการเมือง จะทำให้เราไม่ได้รัฐมนตรีที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในกระทรวงนั้นจริงๆ เพื่อมาบริหารประเทศ หรือเรียกศรัทธาจากประชาชนได้เลย

เราจึงเห็นแต่รัฐมนตรีหน้าเดิมที่เป็นผู้มีอำนาจ ในพรรค และนายทุนผู้ออกเงินเท่านั้นที่สามารถ เป็นรัฐมนตรีได้ แต่ไม่ได้เฟ้นหาผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะแต่ละกระทรวงอย่างแท้จริง เพื่อมา บริหารและแก้ไขวิกฤตประเทศ ทั้งด้านการเมือง ที่รวมศูนย์และเศรษฐกิจที่ผูกขาดความเหลื่อมล้ำ

โฉมหน้าครม. ของรัฐบาลเศรษฐา จึงเป็นแบบเก่า คล้ายกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนั้น เมื่อเข้าไปบริหารก็ต้องนับหนึ่งใหม่ ไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันความเป็นเอกภาพของทั้ง 11 พรรค น่าจะมีปัญหาในการบริหารงาน เพราะนโยบาย แต่ละพรรคไม่เหมือนกัน และไม่ได้วางรัฐมนตรี ในกระทรวงตามนโยบายพรรค แต่กระจายที่นั่งตามผลประโยชน์ที่ตนถนัดและเกี่ยวข้อง

จากนโยบายของแต่ละพรรคที่หาเสียงไว้ อาจทำให้ในครม.เกิดปัญหาขัดแย้งกัน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติ แต่พรรคอื่นอาจไม่เห็นด้วย เพราะได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญปี 60 ดังนั้น อาจส่งผลให้รัฐบาลมีเสถียรภาพน้อยมาก

ผมมองว่า ครม.เศรษฐา 1 อาจอยู่ได้แค่ 3-6 เดือนเท่านั้น และเมื่อผ่านพ.ร.บ.งบประมาณ อาจปรับ ครม.ทันที รัฐบาลชุดนี้ไม่ราบรื่นเท่าไหร่ เพราะจะกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถคุมเสียง หรือบริหารได้ โดยเฉพาะในกระทรวงที่มีรัฐมนตรีมาจากพรรคหนึ่ง และมีรัฐมนตรีช่วยอีกพรรคหนึ่ง

ทำให้รัฐบาลขาดเอกภาพและไร้เสถียรภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน