เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์ – ผลกระทบแม่นอนน้อย

ไค่ เทียนหยิง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา ศึกษาความเชื่อมโยงพฤติกรรมการนอนของแม่และทารกในช่วง 2 ปีแรก พบว่าแม้การอดหลับอดนอนของแม่มือใหม่จะเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่การนอนหลับพักผ่อนที่น้อยเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งแม่และทารกได้ “สองปีแรกของทารกเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะมีพัฒนาการต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย การนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพ ทางทีมวิจัยต้องการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับของแม่และทารก เพื่อดูว่าจะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาหรือไม่” หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว และว่ารวบรวมข้อมูลจากแม่ลูก 464 คู่เป็นเวลานาน 2 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามพฤติกรรมการนอน ได้แก่ กลุ่มที่แม่นอนหลับน้อยกว่าปกติคือระหว่าง 5-6 ชั่วโมงต่อวัน กับกลุ่มที่แม่นอนหลับตามปกติระหว่าง 7-8 ชั่วโมงต่อวัน

จากนั้นให้ผู้เป็นแม่ทำแบบสำรวจเกี่ยวกับกิจวัตรการเข้านอน ระยะเวลาการนอนหลับของลูก การตื่นตอนกลางคืน และปัญหาการนอนหลับเมื่อลูกมีอายุ 3 เดือน 12 เดือน 18 เดือน และ 24 เดือน พบว่ากลุ่มแม่ที่นอนหลับน้อยมีระยะเวลาในการนอนหลับเฉลี่ย 5.74 ชั่วโมงต่อวันในช่วงที่ลูกอายุ 3 เดือน และ 5.9 ชั่วโมงในช่วงทารกอายุ 12-24 เดือน

ขณะที่ทารกมีเวลานอนเฉลี่ย 9.6 ชั่วโมง และ 10.52 ชั่วโมงตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่แม่นอนหลับปกติมีเวลานอนหลับเฉลี่ยต่อวันที่ 7.31 ชั่วโมงในช่วงที่ทารกอายุ 3 เดือน และ 7.28 ชั่วโมงในช่วงที่ทารกอายุ 12-24 เดือน

ขณะเดียวกันทารกนอนหลับเฉลี่ย 9.99 ชั่วโมงในช่วงอายุ 3 เดือน และนอนถึง 11 ชั่วโมงในช่วงอายุ 12-24 เดือน ผลวิจัยบ่งชี้ว่าทารกในกลุ่มที่แม่นอนหลับน้อยมีช่วงเวลาในการนอนหลับต่ำกว่าทารกในกลุ่มที่แม่นอนหลับตามเกณฑ์ปกติ การนอนหลับที่ไม่เพียงพอของทารกในช่วง 2 ขวบแรกของชีวิตอาจเพิ่มความเสี่ยงให้พัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาของเด็กล่าช้ากว่าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันซึ่งอาจส่งผลในระยะยาวได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน