เอเอฟพีรายงานวันที่ 2 ก.ย. ถึงกระแสหวาดผวาสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงในหลายประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย (ไอเอ็มดี) แถลงว่าเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดและแห้งแล้งที่สุดของประเทศนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลเมื่อกว่า 1 ศตวรรษก่อน แม้เป็นช่วงฤดูมรสุมซึ่งปกติจะมีฝนตกมากถึงร้อยละ 80 ของปริมาณน้ำฝนตลอดทั้งปี รวมถึงมีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมหนักทางตอนเหนือของประเทศเมื่อต้นเดือนส.ค. แต่ปริมาณน้ำฝนโดยรวมยัง ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนส.ค. ซึ่งปีนี้อยู่ที่ 161.7 มิลลิเมตร ต่ำกว่าเดือนส.ค.2565 ที่ 30.1 มิลลิเมตร คาดว่าปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติเป็นปัจจัยทำให้ประเทศร้อนอบอ้าวต่อเนื่อง

ขณะที่ญี่ปุ่นแถลงเมื่อวันศุกร์ว่าประเทศเผชิญหน้ากับฤดูร้อน ที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกในปี 2441 หรือเมื่อ 125 ปีก่อน สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นระบุว่าอุณหภูมิตั้งแต่เดือนมิ.ย. ถึงเดือนส.ค. สูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมากในหลายพื้นที่ทั่วทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ไม่เพียงอุณหภูมิสูงสุดเท่านั้นแต่ยังรวมถึงอุณหภูมิต่ำสุดด้วยที่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้านสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียเปิดเผยว่า ฤดูหนาวปีนี้เป็นฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิอบอุ่นที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 16.75 องศาเซลเซียสตลอดฤดูกาลตั้งแต่เดือนมิ.ย ถึงเดือนส.ค. สูงกว่าสถิติเดิมในปี 2539 และเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกสถิติของประเทศในรอบ 113 ปี เมื่อปี 2453

นายจอห์น แนร์น ที่ปรึกษาองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวก่อนหน้านี้ว่าคลื่นความร้อนทวีความรุนแรงขึ้น ความคืบหน้าเหล่านี้เป็นหลักฐานใหม่เกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ร้อนสอดคล้องกับคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ที่ระบุไว้นานแล้ว และยิ่งตอกย้ำมากขึ้นด้วยเหตุไฟป่าร้ายแรงเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่กรีซไปจนถึงแคนาดา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน