ที่ผ่านมาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) และธนาคารโลก ออกมาระบุว่า มีหลายประเทศที่กำลังเผชิญกับวิกฤตอาหาร

ขณะที่ไทยแม้เป็นประเทศผู้ผลิตอาหารส่งออกที่สำคัญของโลก มีปริมาณอาหารเพียงพอทั้งการบริโภคภายในประเทศ และส่งออกได้ด้วย แต่ก็ยังต้องเตรียมพร้อมรับมือหากอนาคตเกิดภาวะขาดแคลน

อาหารแห่งอนาคต (Future Food) เป็นแนวคิดในอุตสาหกรรมอาหารโลกที่มีความหลากหลาย มุ่งเน้นกระบวนการผลิตอาหาร ที่เหมาะสมกับโลกอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้าง ระบบอาหารอย่างยั่งยืน

“ไข่ผำ” และ “จิ้งหรีด” เป็นตัวอย่างของพืชและแมลง เป็นโปรตีนแห่งอนาคต ถือเป็นแหล่งอาหารชั้นดี ที่เรียกว่า “ซูเปอร์ฟู้ด” สามารถสร้างอาชีพและทำรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงอย่างดี

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมประมง ร่วมกับนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนาหัวข้อ เทรนด์อาหารแห่งอนาคต “ไข่ผำ-จิ้งหรีด” ซูเปอร์ฟู้ด จากธรรมชาติ ณ อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยมีเกษตรกร และประชาชนสนใจเข้าร่วมฟังสัมมนาเป็นจำนวนมาก








Advertisement

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวเปิดงานว่า หลายประเทศเริ่มชะลอการส่งออก หลังมีข้อมูลว่าประชากรโลก เกือบ 193 ล้านคน ใน 53 ประเทศ จากทั่วโลก 8,000 กว่าล้านคน กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างเฉียบพลัน พื้นที่ทำการเกษตรมีจำกัด ปัญหาต้นทุนสูงขึ้น จากปัญหาสงครามที่เกิดขึ้นอีกมุมโลก “เอลนีโญ” ที่ลุกลามโลก กระทบผลผลิตด้านการเกษตร ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น

แต่ด้วยข้อจำกัด และอุปสรรคการผลิตอาหาร กรมประมงจึงเดินหน้าสนับสนุนให้เกิดงานวิจัย จากหิ้งสู่ห้าง เพื่อพัฒนาอาหารแห่งอนาคต

โดยชู “ไข่ผำ-จิ้งหรีด” ซูเปอร์ฟู้ด หรืออาหารแห่งอนาคต ที่มี 3 ดี “ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพ และดีต่อโลก” มีจุดเด่นน้อย แต่มาก คือ รับประทานแต่น้อย แต่อุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร สารอาหารหลากหลาย เข้มข้นในปริมาณมาก ให้ประโยชน์ด้านสุขภาพ แต่แคลอรีต่ำ รวมทั้งด้านอนุมูลอิสระ เรียกกันว่า ซูเปอร์ฟู้ด ลดการเป็นโรคมะเร็ง เบาหวาน และความดัน

เริ่มกันที่ ‘ไข่ผำ’ พืชขนาดเล็ก ที่กรมประมงเตรียมจัดทำมาตรฐาน เพื่อสนับสนุนให้มีการส่งออก เพราะ “ไข่ผำ” มีคุณค่าทางโภชนาการจำนวนมาก อาทิ มีวิตามิน โปรตีนสูง 40% ของน้ำหนักแห้ง มีแร่ธาตุจำนวนมาก และมีไฟเบอร์ 8 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนัก 100 กรัม และยังมีสารอาหารจำนวนมาก ที่เพียงพอใช้เป็นอาหาร ถือเป็นการตอบโจทย์อาหารแห่งอนาคต

ด้าน ดร.สมบัติ สิงห์สี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอุดรธานี กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยง “ไข่ผำ” ทั้งหมดในไทยมี 37 ชนิด วงรอบการผลิตค่อนข้างสั้น

ซึ่งไข่ผำ อดีตเพาะเลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ในการเพาะเลี้ยง แต่ปัจจุบันแม่น้ำแหล่งน้ำเริ่มเน่าเสีย เป็นแหล่งหมักหมมของเชื้อโรค กรมประมงได้หารือกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เพื่อจะส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยง ให้เกิดความสะอาด ถูกสุขอนามัย โดยกรมประมงอยู่ระหว่างการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ลดต้นทุน เพิ่มปริมาณ

ขณะที่เกษตรกรอย่าง กมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ เจ้าของ “ไร่แสงสกุลรุ่ง” ผู้เพาะเลี้ยงไข่ผำระบบปิดครบวงจรรายแรกของ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า “ไข่ผำ” เป็นซูเปอร์ฟู้ดของโลกที่เพาะเลี้ยงง่าย ปัจจุบัน ไร่แสงสกุลรุ่ง ผลิตไข่ผำสดขายในราคา 150 บาทต่อกิโลกรัม

แล้วยังพัฒนาต่อยอดด้วยการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ขนมจีนน้ำยาผำ ข้าวเกรียบผำ กาแฟผำ เบเกอรี่ผำ ผงผำชงพร้อมดื่ม ตอบโจทย์ลูกค้าคนเมือง กลุ่มวัยรุ่น คนรักสุขภาพและ ผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องการเสริมโปรตีน สร้างรายได้หลักแสนต่อเดือน ผู้ที่สนใจโทร.สอบถามกันได้ที่ 09-1753-6491

หันมาดูกันที่ “จิ้งหรีด” แมลงเล็กๆ เป็นแหล่งโปรตีนชั้นยอดสำหรับมนุษย์ ที่เอฟเอโอแนะนำให้ทั่วโลกเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อเป็นอาหารโปรตีนสำรองในอนาคตเพราะมีราคาถูก เพาะเลี้ยงง่าย ลดการใช้ทรัพยากร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“จิ้งหรีด” ตอบโจทย์ที่จะเป็นอาหารแห่งอนาคต โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับโปรตีนจากเนื้อวัว ปริมาณโปรตีนเท่ากัน ใช้อาหารน้อยกว่า 10 เท่า ใช้น้ำน้อยกว่า 2,000 เท่า ใช้พื้นที่น้อยกว่า 15 เท่า และที่สำคัญต่ออนาคตคือ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าวัว 2,850 เท่า

และมีโปรตีนเฉลี่ยกรณีตัวสดเทียบเท่า เนื้อวัว แต่หากทำเป็นแห้งจะมีโปรตีนสูงกว่าเนื้อวัว มีกรดอะมิโนจำเป็นครบ 9 ชนิด โอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 เทียบเท่าปลาแซลมอน มีแคลเซียมสูงกว่านมวัว มีธาตุเหล็กสูงกว่าผักโขม มีวิตามินบี 12 สูงกว่าแซลมอน 10 เท่า และมี Prebiotic ที่สนับสนุนการเติบโตของ Probiotic

บัญชร นามธรรม เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดแนวตั้งรายแรก จ.ปทุมธานี เล่าให้ฟังว่า จิ้งหรีดเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าลงทุนมากที่สุด สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาล ด้วยสภาพอากาศ ของประเทศไทยเหมาะสำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นที่สุด

ปัจจุบันทางบริษัทประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยระบบให้อาหารและน้ำอัตโนมัติเป็นรายแรกในประเทศไทย ที่แม่นยำ และให้ผลผลิตสูง ประหยัดพื้นที่ สะดวกต่อ ผู้เพาะเลี้ยง ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ลงทุนเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยนวัตกรรมอย่างมืออาชีพ 2 ปีคืนทุน 3 ปีทำกำไร แม้จะสามารถผลิตจิ้งหรีดได้ 2 ตันต่อเดือน แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับท่านที่สนใจระบบการเลี้ยงฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 08-1697-3539 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : 32 BUG FARM

อย่างไรก็ตาม การส่งออกจิ้งหรีดไทย ไปต่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.8202-2560 หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ตามมาตรฐานระดับสากล

ดร.รุจิเรข น้อยเสงี่ยม ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายระหว่างประเทศที่ 1 กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มกอช. กล่าวว่า จากการศึกษากฎระเบียบการส่งออกจิ้งหรีดแล้ว ทาง มกอช. ในฐานะหน่วยงานที่ทำมาตรฐานสินค้า ได้จัดทำแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับผู้ซื้อและ ผู้บริโภค

เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดการทำมาตรฐานได้ ที่ มกอช.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน