หลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาระหว่างวันที่ 11-12 ก.ย. เสร็จสิ้น ถือเป็นการเดินหน้าทำงานอย่างเต็มตัวทันที

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เรียกประชุมครม.อย่างเป็นทางการในวันพุธที่ 13 ก.ย. ซึ่งมีนโยบายหัวกะทิหลายเรื่องที่จะนำเข้าพิจารณาในครม.นัดแรก

หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาต่างๆ ให้ ‘เกษตรกร’

เรื่องการเกษตรและปากท้องของคนไทย เป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อมาอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล 11 พรรค ทุกพรรคการเมืองเห็นด้วยที่จะต้องให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร จึงนำมาเป็นนโยบายของรัฐบาล

ในการแถลงนโยบายรัฐบาล นายเศรษฐาระบุตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วย การพักหนี้เกษตรกร ตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม”

การลงพื้นที่ล่าสุดที่ภาคอีสาน นายเศรษฐายืนยันว่า ในการประชุม ครม.นัดแรก จะเอาเรื่องการพักหนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อบรรเทาทุกข์พี่น้องประชาชนจะได้มีกำลังใจในการหารายได้อย่างเต็มที่

หน้าที่รัฐบาลคือต้องพยายามทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่ดี สามารถกินอยู่ ลงทุนเพาะปลูกและแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ แต่ปัจจุบันปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาใหญ่ เรื่องพักหนี้เกษตรกรจะเป็นเรื่องด่วน รวมทั้งการลดรายจ่าย ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน

ขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะพักหนี้จำนวนเท่าใด นานเท่าใดและอย่างไร ยืนยันว่าจะพักทั้งต้นทั้งดอก เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีเวลาทำมาหากินฟื้นฟูตนเอง มีขวัญและกำลังใจ ไม่ต้องพะวงกับหนี้สิน ‘คาดจะทำได้ในช่วงเดือนต.ค.2566’ โดยได้กำชับ ธ.ก.ส. ดูขั้นตอนและประสานงานกับกระทรวงการคลัง

การลดหนี้ชั่วคราวเป็นการบรรเทาความทุกข์ เป็นการฟื้นฟูจิตใจให้มีขวัญและกำลังใจ แต่เหนือสิ่งอื่นใดการเพิ่มรายได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นนโยบายของรัฐบาลคือจะพยายามเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งต้องเร่งทำ

“ในระยะ 9 ปีมานี้ มีการพักหนี้ไปแล้ว 13 ครั้ง แต่ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ หลังได้พูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คือเมื่อมีการพักหนี้ไปแล้วรายได้ไม่ได้สูงขึ้น หากพักหนี้แล้วรายได้สูงขึ้นก็เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ที่เราควรต้อง ทำกัน ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรก เราจะเพิ่มรายได้สุทธิให้สูงขึ้น” นายเศรษฐากล่าว

นอกจากการพักหนี้ เพิ่มรายได้เกษตรกรให้สูงขึ้นแล้ว รัฐบาลยังแก้ปัญหาที่เป็นต้นตอของการเกิดหนี้ควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก

โดยเฉพาะปัญหาน้ำแล้ง ที่นายเศรษฐา เคยประกาศตอนหาเสียงว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะลุยแก้น้ำท่วม-ภัยแล้งอย่างรวดเร็ว

ช่วงตรวจสถานการณ์น้ำ ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเศรษฐารับฟังกรมชลประทานและการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) สรุปสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานสำหรับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งปริมาณน้ำทุกเขื่อนของอีสานยังน้อยอยู่ จึงเกิดความกังวลว่าจะขาดแคลนน้ำ

รวมทั้งรับฟังปัญหาโดยตรงจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้สะท้อนปัญหาภัยแล้งจากผลกระทบของเอลนีโญ และเมื่อฝนตกก็ไม่มีแหล่งน้ำสำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในลำน้ำสาขา รวมถึงการต่อยอดชลประทานระบบท่อ

นายเศรษฐาจึงขอให้พล.ท.อดุลย์ บุญธรรมเจริญ ว่าที่แม่ทัพภาคที่ 2 จัดกำลังพลสนับสนุนกรมชลประทานในการขุดลอกคูคลอง แหล่งน้ำต่างๆ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในระยะสั้น

“รัฐบาลของประชาชนเชื่อว่าการลงทุนด้านการเกษตร เช่น โครงการโขง ชี มูล เลย เรื่องชลประทาน ฝายแกนซอยซีเมนต์ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญมากที่สุด รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างเป็นระบบ ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลที่มาจากประชาชนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เรามุ่งมั่นที่จะทำให้ไม่ท่วมไม่แล้งเพื่อพี่น้องเกษตรกร” นายเศรษฐากล่าว

นอกจากนี้นายกฯ มอบหมาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ รวบรวมข้อมูลเพื่อมีมาตรการรับมือเอลนีโญอย่างเป็นรูปธรรมในการประชุมครม.วันที่ 13 ก.ย.

เอลนีโญได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่มิ.ย.2566 เป็นต้นมา ปรากฏการณ์นี้สร้างความร้อนและแห้งแล้งกว่าปกติ และผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ผลกระทบจะรุนแรงขึ้นและลากยาวถึงมี.ค.2567 เป็นอย่างน้อย จะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรไทยเป็นอย่างมาก

ส่วนราคาพืชผลตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง การตลาด-การส่งออก ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรแบกรับมาตลอด

ระหว่างเดินทางจากเขื่อนอุบลรัตน์ ไป จ.อุดรธานี นายเศรษฐาเห็นชาวนากำลังหว่านปุ๋ยใส่นาข้าวอยู่ จึงหยุดรถแวะทักทาย สอบถามปัญหา

นายอุดร พื้นทอง ชาวนา อายุ 65 ปี ซึ่งเป็นชาวบ้านกุดเชียงมี อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ระบุว่า ราคาข้าว หากกิโลกรัมละ 15-16 บาทก็พออยู่ได้ แต่ตอนนี้ราคา 11-12 บาท ขณะที่ราคาปุ๋ยและน้ำมันแพง ส่วนผลผลิต 1 ไร่ ได้ข้าวประมาณ 400-500 กิโลกรัม มีนา 10 ไร่ พอได้เก็บกินไม่พอขาย

นายเศรษฐากล่าวกับชาวนาว่า เรามีรอง นายกฯ ที่จะไปพูดคุยเรื่องการค้าระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเรื่องนี้ แต่เราต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น หากทำได้จริงจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 17-18 บาท

อย่างที่ลุงได้ระบุว่าผลผลิตต่อไร่ได้เพียง 400-500 กิโลกรัม เหตุใดจึงไม่ได้ถึง 700 กิโลกรัม เหมือนบางประเทศ ดังนั้น ต้องมีการทดสอบดินก่อนว่าเป็นเพราะอะไร มีเกลือแร่อะไรบ้าง เพราะนี่เป็นเกษตรแม่นยำ

แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันด้านความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าเราให้ความรู้เกษตรกร มีความแม่นยำเกิดขึ้น การใช้ปุ๋ยอาจจะลดน้อยลง ราคาต่อโล 11-12 บาท ก็ถือว่าโอเค เนื่องจากรายจ่ายลดลง รายได้สุทธิจะสูงขึ้น ส่วนนี้เป็นเรื่องที่ตนเน้นย้ำ

“รัฐบาลมีนโยบายยกระดับรายได้สุทธิของเกษตรกร ด้วยการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ทำให้รายได้สุทธิของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องการลดค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลงและเพิ่มผลิตผลต่อไร่ พร้อมทั้งเปิดตลาดการค้าใหม่ โดยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการค้าโลก จะไปเปิดตลาดใหม่ๆ และหาแนวทางในการแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ” นายเศรษฐากล่าวสรุป

ทั้งหมดนี้ถือเป็นการแก้ปัญหาเกษตรกรทุกมิติ แต่จะสัมฤทธิผลแค่ไหน ต้องรอพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน