โดยหลักการแล้ว เวที “แถลงนโยบาย” น่าจะเป็นเวทีของ “รัฐบาล” ของพรรคเพื่อไทย

เนื่องจาก “นโยบาย” คือ พิมพ์เขียวอย่างสำคัญที่รัฐบาลประกาศให้รับรู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปทั้งในระยะ “สั้น” 1 ปีข้างหน้า และระยะ “ยาว” ใน 4 ปี

นี่ย่อมเป็น “โอกาส” นี่ย่อมเป็น “เงื่อนไข”

เป็นเงื่อนไขที่พรรคเพื่อไทยจะแสดงให้เห็นฝีมือและความสามารถจากการก้าวข้าม “ความขัดแย้ง” เพื่อบรรลุเป้าหมายแห่ง “รัฐบาลพิเศษ”

ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

หากสังเกตจากท่าทีและการเคลื่อนไหวจากปีก ทางด้าน “รัฐบาล” กลับไม่เป็นเช่นนั้น

ไม่ว่าจะมาจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมาจากพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะมาจากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมาจากพรรครวมไทยสร้างชาติ

กลับดำเนินไปในลักษณะ “ป้องปราม”

นั่นก็เห็นได้จากการชี้ให้เห็นจุดต่างว่าการ “แถลงนโยบาย” มิใช่เวทีแห่งการดำเนินญัตติ “ขอเปิดอภิปรายทั่วไป” เพื่อลงมติ “ไม่ไว้วางใจ”

เป็นเสียงสำทับตรงไปยังพรรคก้าวไกล

ต้องยอมรับว่า บรรยากาศของการจัดตั้ง “รัฐบาลพิเศษ” เป็นมูลเชื้อสำคัญการเมือง

เนื่องจากทุกจังหวะก้าวนับแต่ความล้มเหลวของการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ มากด้วยความสลับซับซ้อน ย้อนยอกทางการเมือง

ส่งผลให้ “ฝ่ายค้าน” ถูกแปรเป็น “ฝ่ายแค้น”

การตรวจสอบระหว่างคำประกาศในห้วง “หาเสียง” ก่อนเดือนพฤษภาคม กับที่ปรากฏใน “นโยบาย” เดือนกันยายนจึงมีความร้อนแรง แหลมคม

กลายเป็นศึกระหว่าง “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล”

ทุกความคาดหมายในที่สุดแล้วก็จะชี้ขาดอยู่ที่ การปฏิบัติในวันที่ 11 กันยายน

นั่นก็คือ ท่าทีและความจริงจังของ “รัฐบาล” นั่นก็คือ ท่าทีและความจริงจังของ “ฝ่ายค้าน” ว่าเมื่อลงลึกไปในรายละเอียดแล้วจะดำเนินไปอย่างไร

“เพื่อไทย” จึงถูกเฝ้ามอง “ก้าวไกล” จึงถูกจับตา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน