เพื่อสร้างเกราะป้องกันคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อไอซีทีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงสานต่อความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร เดินหน้าโครงการ “BMA x True Safe Internet” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ลงพื้นที่จัดหลักสูตรอบรมแก่ครูและนักเรียนกว่า 19,000 คน ในโรงเรียน 50 แห่งทั่วกทม.

โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ True Cyber Care ที่ทรู คอร์ปอเรชั่น มุ่งมั่นดำเนินการต่อเนื่อง ผสานศักยภาพของทั้งทรูและดีแทค ในการก้าวเป็นเทเลคอม-เทคคอมปานี ที่ต้องการร่วมยกระดับการศึกษายุคดิจิทัล ขับเคลื่อนสังคมแห่งการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และบริการโทรคมนาคมอย่างปลอดภัย พร้อมป้องกันและเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ เพื่อไม่ให้เยาวชนและคนในสังคมตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

สำหรับกิจกรรมของโครงการ BMA X True Safe Internet ปีนี้ ครบเครื่อง ตั้งแต่ School Tour ลงพื้นที่พบปะน้องๆ นักเรียน จัดคอร์สเข้มข้นให้ความรู้ “การล่อลวงเด็กในโลกออนไลน์” เรียนรู้การรักษาข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ตรวจสอบแยกแยะข่าวไหนจริงหรือหลอกลวง รู้เท่าทันเทคนิคมิจฉาชีพ โดยเฉพาะการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ บนโลกออนไลน์ หลอกให้โอนเงิน วิธีป้องกันและขอความช่วยเหลือเมื่อเจอผู้ไม่หวังดี ปีนี้เสริมด้วยหลักสูตร “รู้ทันโลกออนไลน์” จากทรูปลูกปัญญา ทั้งป้องกันภัยจากโลกไซเบอร์ การตั้งพาสเวิร์ด รูปแบบและโทษของ Cyberbullying ภัยโซเชี่ยลมีเดียใกล้ตัว กฎหมายอินเตอร์เน็ตน่ารู้ และเฟกนิวส์ต่างๆ

น้องพอใจ ด.ญ.ดารากา ศรีผ่องใส ชั้น ป.6 โรงเรียนวัดสร้อยทอง กล่าวว่า “ปกติใช้สื่อโซเชี่ยล เช่น เฟซบุ๊ก เพื่อเข้าไปหาความรู้ อัพเดตข่าวสาร ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่ตนเองสนใจ จากประสบการณ์ มีคนในครอบครัวเคยโดนมิจฉาชีพส่งลิงก์ มาให้ พอกดแล้วเงินในบัญชีหายไปหมด หรือคอลเซ็นเตอร์มิจฉาชีพโทร.มาหลอกว่ามีหนี้ค้างชำระ การเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ทำให้เรียนรู้การใช้สื่อโซเชี่ยลถูกวิธีมากยิ่งขึ้น อย่าไปหลงเชื่อกลลวง และวิธีรับมือเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน มีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันมากๆ ค่ะ”

ขณะที่ น้องโฟม ด.ช.พัตตินันท์ ประสวนศรี ชั้น ป.6 โรงเรียนวัดสร้อยทอง แบ่งปันประสบการณ์การใช้สื่อไอซีทีของตนเองว่า “ชอบท่องโลกอินเตอร์เน็ตเพื่อเข้าไปดูและติดตามผลการแข่งขันกีฬา รวมถึงเล่นเกม และเคยเจอมิจฉาชีพหลอกเอารหัสผ่านเข้าใช้งาน และบัญชีเฟซบุ๊กของตนเองไป การเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ทำให้รู้เท่าทันมากยิ่งขึ้น รู้จักป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้โดนมิจฉาชีพหลอกลวง เช่น การตั้งรหัสผ่านที่ยากๆ ดีใจที่พี่ๆ มาให้ข้อมูล บางเรื่องก็ไม่เคยรู้ มาก่อน เช่น หลอกว่าจะปั้นให้เป็นศิลปินดาราที่มีชื่อเสียง หลอกให้ถ่ายรูปตนเองและส่งไปเพื่อนำไปใช้ในทางที่ไม่ดี”

นอกจากกิจกรรม School Tour แล้ว มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และมูลนิธิศานติวัฒนธรรม ร่วมสนับสนุนหลักสูตร “พอกันที กรูมมิ่ง” จัดอบรมให้ครูมีความรู้ ทักษะ และสามารถสร้างเครื่องมือสื่อสารกับเด็ก ช่วยสอดส่องดูแลให้เด็กรู้จักระวังภัยและป้องกันตัวเองจากการกรูมมิ่งในโลกออนไลน์ และเตรียมพบกับอีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลต์ยอดนิยม การแข่งขันโต้วาที “Battle for Better” ในเดือนตุลาคมนี้ เปิดเวทีให้ผู้กล้าวัยใสปล่อยพลัง นำเสนอไอเดียและข้อคิดเห็นด้านจริยธรรมเทคโนโลยีและสิทธิเสรีภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน