กทม. – ดร.วรวิชช ภาสาวสุวัศ รองผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า รูปแบบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอก ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สมศ. ยังคงให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) โดยกำหนดวิธีการประเมินที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ รวมถึงจำนวนวันประเมิน (1-3 วัน) ซึ่งระยะเวลาในการประเมินจะแตกต่างกันตามบริบทสถานศึกษาแต่ละกลุ่ม แต่ละประเภท

นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ตลอดจนการนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ พร้อมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดภาระของสถานศึกษาให้มากที่สุด และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประกันคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สมศ. ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น ONESQA-V ช่วยให้การประเมินคุณภาพภายนอกสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การบันทึกข้อมูลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดปัญหาการร้องเรียนในกรณีต่างๆ อีกทั้งในกรณีที่เกิดการร้องเรียนก็สามารถ ตรวจสอบประวัติการดำเนินการผ่านแอพพลิเคชั่นได้ ซึ่งแอพฯ ONESQA-V จะช่วยทำให้ สมศ. และหน่วยกำกับการประเมินคุณภาพภายนอกทราบการดำเนินงานของผู้ประเมินพร้อมกัน

สำหรับรายละเอียดการทำงานของ ONESQA-V สมศ.จะเปิดให้ผู้ประเมินดาวน์โหลดแอพฯ ผ่านช่องทางที่กำหนด หลังจากนั้นผู้ประเมินล็อกอินเข้าระบบด้วยเลขที่บัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ และจะได้รับรหัสโอทีพีผ่านโทรศัพท์มือถือ หลังจากล็อกอินเรียบร้อย ระบบจะแสดงข้อมูลเบื้องต้นของผู้ประเมิน ข้อมูลของสถานศึกษา และวันเวลาที่ผู้ประเมินต้องลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ส่วนขั้นตอนการใช้แอพฯ เพื่อการบันทึกข้อมูลนั้นทำได้ทั้งแบบพิมพ์ข้อความและบันทึกผ่านเสียง โดยระบบจะแปลงเสียงเป็นไฟล์ข้อความ ซึ่งผู้ประเมิน ส่งรายละเอียดไปยังอีเมล์เพื่อแก้ไขรายงานสรุปได้ทันที ส่งผลให้งานการประเมินทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน และยังช่วยลดภาระงานของสถานศึกษาอีกด้วย

ปัจจุบัน แอพฯ ONESQA-V มีความสมบูรณ์พร้อมใช้งานแล้ว 90% ซึ่ง สมศ.จะเริ่มให้ผู้ประเมินใช้แอพพลิเคชั่นในกระบวนการประเมินอย่างเต็มรูปแบบกับสถานศึกษาจำนวน 4,220 แห่ง ตามแผนการประกันคุณภาพการศึกษาในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดย สมศ. ได้ทดลองนำร่องทั้ง 4 ระดับ ได้แก่ สถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) จำนวน 5 แห่ง สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 17 แห่ง สถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษา จำนวน 9 แห่ง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เขตและอำเภอ และสถานศึกษาขึ้นตรงจำนวน 10 แห่ง รวมทั้งสิ้น 41 แห่ง นอกจากนี้ สมศ. ยังปรับหลักเกณฑ์การประเมินรูปแบบใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและพัฒนาสถานศึกษาได้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน