จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่จ.ชลบุรี สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกไปสำรวจ เบื้องต้นพบว่ายังไม่พบผลกระทบที่เห็นชัดเกิดขึ้น เนื่องจากคราบน้ำมันได้ถูกกำจัดไปเกือบหมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของทีมวิจัยที่ทำงานศึกษาผล กระทบของน้ำมันรั่วที่มีต่อระบบนิเวศปะการัง ในอดีตที่ผ่านมาที่ระยองทั้งสองครั้ง พบว่า ผลกระทบอาจยังไม่เกิดให้เห็นทันที แต่สิ่งมีชีวิตอาจมีผลกระทบในภายหลัง

ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่า จากการศึกษาในอดีต และในห้องปฏิบัติการที่ผ่านมา พบว่าน้ำมัน หรือคราบน้ำมัน รวมทั้งสารขจัดคราบน้ำมันทำให้ปะการังเป็นหมัน โดยปะการังไม่สามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ หรือถึงแม้ปล่อยได้ แต่จะทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่ถูกปล่อยออกมามีรูปร่างที่ผิดปกติ ปฏิสนธิกันไม่ได้ เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “ปะการังเป็นหมันชั่วคราว”

ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์

อย่างไรก็ตาม ถ้าสิ่งแวดล้อมกลับมาเหมือนเดิม ปะการังส่วนใหญ่ก็กลับมาเหมือนเดิมได้ แต่อาจไม่ 100% ดังนั้น จึงต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีผลกระทบในระยะกลางและระยะยาวอย่างไรต่อสัตว์ทะเล

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า เนื่องจากจุฬาฯ มีสถานีวิจัยสัตว์ทะเลอยู่บนเกาะสีชัง และมีงานวิจัยการปลูกปะการังที่เกาะค้างคาวด้วย จึงต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการรั่วไหลของน้ำมันจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทางทะเลบริเวณนั้นอย่างไร

“เกาะค้างคาวและเกาะสีชังห่างจากบริเวณที่น้ำมันรั่ว 1-2 ก.ม.เท่านั้น ทางทีมนักวิจัยจากจุฬาฯ ใช้เรือจุฬาฯ วิจัย ออกไปเก็บตัวอย่างน้ำทะเลและดินที่อยู่บริเวณรอบๆ กลุ่มคราบน้ำมัน เพื่อดูผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น และจะนำมาศึกษาวิจัยในเชิงลึก และนำเทคโนโลยีการแยกลำดับสารทางพันธุกรรม (DNA) ของสิ่งมีชีวิตแบบการศึกษาสารพันธุกรรมทั้งหมดของสังคมจุลินทรีย์ในสิ่งแวดล้อม (metagenomic) มาประยุกต์ใช้ โดยจะบ่งบอกถึงผลกระทบภายในของสัตว์ทะเล รวมทั้งปลาต่างๆ ในบริเวณเหล่านั้นได้” ศาสตราจารย์ ดร.วรณพกล่าว

“ทีมวิจัยจะติดตามศึกษาผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมมือกันป้องกันแก้ไขในระยะยาว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลของเราให้มากที่สุด”








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน