รัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทยแกนนำหลัก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีอำนาจเต็มบริหารประเทศ เดินหน้าปฏิบัติตามนโยบายดังที่แถลงไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภา

ผลการประชุมครม.นัดแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 เห็นชอบลดค่าไฟฟ้า 35 สตางค์ จะเริ่มในรอบบิลเดือนก.ย. ลดราคาน้ำมันดีเซลต้นทุนค่าขนส่งให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร

พักหนี้เกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็กเป็นเวลา 3 ปี ฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวชาวจีนและคาซัคสถาน เพื่อปลุกกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว ตลอดจนตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ

นับเป็นความฉับไวและมุ่งมั่นของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นในหลายๆ ด้าน

นอกจากนี้ ครม.ยังหารือเรื่องการเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐ จากการเป็นผู้ดูแล กำกับดูแล แล้วออกกฎระเบียบต่างๆ ทำให้การดำเนินชีวิต การทำมาหากินของประชาชน และการดำเนินธุรกิจต่างๆ เจออุปสรรคซ้ำซ้อน

โดยพบว่ารัฐบาลชุดที่แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ มากถึง 178 ชุด นายกฯ จึงสั่งให้ไปพิจารณาว่า คณะกรรมการชุดใดบ้างที่ยังคุ้มค่า และควรจะมีต่อไป แต่หากไม่มีเหตุผลที่ดีก็ให้ยกเลิกกรรมการชุดนั้น

รวมถึงให้กระทรวง ทบวง กรม ที่เคยได้รับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือใช้อำนาจ คสช.ปฏิบัติอยู่ ก็ขอให้ทบทวนว่าคำสั่งเหล่านั้น ยังมีอะไรที่จำเป็นต้องคงเอาไว้หรือไม่ แล้วให้เสนอกลับมา หากไม่เสนอก็ให้ถือเป็นอันยกเลิกทั้งหมด

สะท้อนถึงวิธีคิดและการทำงาน อันแตกต่างจากยุครัฐบาลก่อน ที่ออกกฎระเบียบเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า








Advertisement

ความฉับไวต่อปัญหา และวิธีการทำงานยุครัฐบาล เศรษฐา น่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นที่เฝ้าจับตามอง และพร้อมจะตรวจสอบอย่างเป็นพิเศษเช่นกัน

ดังที่ปรากฏผ่านการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมต่างๆ ตลอดจนการอภิปรายนโยบายรัฐบาล ในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งสมาชิกไม่น้อยท้วงติงซักถามถึงงบประมาณ ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ ต่อนโยบายทั้งหลาย

หรือบางเรื่องสำคัญที่รัฐบาลไม่ได้กำหนดไว้อย่างละเอียดเพียงพอ เช่น การแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ การอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้สูญเสียจากความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 เป็นต้น

จึงหวังว่ารัฐบาลจะนำไปพิจารณาปรับปรุง แต่งเติมเสริมนโยบายให้ครอบคลุมเพียงพอไปถึงวิกฤตปัญหาเหล่านี้ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน