ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก เป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเร่งเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อเร่งลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตบนโลก

รัฐบาลไทยประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30-40% ภายในปี 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย

ออมสิน ในฐานะธนาคารเพื่อสังคมที่ดำเนินการโดยใช้แนวคิด ESG (Environment-Social-Governance) รับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล เป็นกรอบในการดำเนินธุรกิจ จึงได้ผนวกแผนลดโลกร้อนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ โดยประกาศนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 3 กลุ่มธุรกิจที่ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุน ลงมากกว่า 50% ภายในปี 2030 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050

โดยนำเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ การให้คำแนะนำลงทุน รวมถึงการบริหารพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร มาใช้เป็นกลไกการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เพื่อให้การดำเนินการเกิดเป็นรูปธรรมชัดเจน ธนาคารออมสินประเมินและจัดทำบัญชีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ซึ่งมีการจัดเก็บและคำนวณได้จากวิธีการตามมาตรฐาน Science-Based Target Initiative ที่เป็นสากล ถือเป็นธนาคารแรกที่มีการเปิดเผยตัวเลขออกมาให้สังคมได้รับรู้

ทั้งนี้ จากการประเมินพบว่า ปัจจุบันธนาคารออมสินมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งสิ้น 1.72 ล้าน tCO 2e แบ่งเป็น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากการใช้น้ำมัน 15,308 tCO 2e, การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า 32,194 tCO 2e และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดจากการให้สินเชื่อหรือลงทุน 1.68 ล้าน tCO 2e








Advertisement

หากพิจารณาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคารพบว่า 97% มาจากการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าและการลงทุนในธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำให้ธนาคารต้องกำหนดแผนงดการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจเชื้อเพลิงถ่านหินและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (No Coal and Coal Related Business) และเริ่มนำ ESG Score (Environmental Social Governance Score) มาใช้ในการประเมินคุณสมบัติด้านความยั่งยืนของลูกค้า และธุรกิจที่ลงทุนโดยพิจารณาจากปัจจัย 3 ด้านคือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อจูงใจภาคธุรกิจให้สนใจความยั่งยืนมากขึ้น โดยกำหนดให้มีการใช้ ESG Score เป็นเกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีวงเงินกู้ 500 ล้านบาทขึ้นไป

 

โดยลูกค้ารายที่มีผลคะแนน ESG Score ในระดับดีมาก ธนาคารจะให้การสนับสนุนโดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือเพิ่มวงเงินให้กู้ ส่วนรายที่คะแนน ESG Score ต่ำกว่า 2 ธนาคารสงวนสิทธิ์ ไม่พิจารณาให้กู้ไว้ก่อน แต่จะเข้าช่วยเหลือมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับการดำเนินงานของลูกค้าด้าน ESG ให้ดีขึ้น

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของธุรกิจธนาคารที่มีการนำเอา ESG Score มาเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาปล่อยสินเชื่ออย่างจริงจัง

ล่าสุดธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อโดยใช้เกณฑ์ ESG Score ไปแล้ว กว่า 50 ราย โดยมีวงเงินสำหรับสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนนี้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท

“ออมสิน เป็นธนาคารแรกที่นำ ESG Scoring มาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่อย่างจริงจัง เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่สร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เราตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยคาร์บอนเป็น 0% ในปี 2050 เราต้องทำให้เกิดผลลัพธ์ เราต้องการ อิมแพ็กต์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่ประกาศนโยบายประชาสัมพันธ์เท่านั้น” นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว

เพื่อเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2050 ธนาคารได้ ประกาศโรดแม็ปของการลดการปล่อยคาร์บอน โดยปีนี้ธนาคารได้ประกาศจัดกลุ่มธุรกิจที่จะสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนของธนาคารออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. Exclusion List หรือธุรกิจที่ธนาคารจะไม่สนับสนุน เนื่องจาก เป็นธุรกิจที่สร้างผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง จะไม่ให้สินเชื่อ ไม่ลงทุนเพิ่มในธุรกิจถ่านหินและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากการใช้น้ำมัน และแอลพีจี

2. Negative List หรือธุรกิจที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ โดยหลีกเลี่ยงการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่มีคะแนน ESG Score ในระดับต่ำมาก โดยธนาคารจะเข้าช่วยเหลือลูกค้าและให้คำปรึกษาในการปรับปรุงดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า

3.Positive List หรือธุรกิจที่ให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ ผ่านการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ ส่งเสริม BCG ธุรกิจ EV และ Supply Chain หรือกิจการบริษัทที่มีคะแนน ESG Score ในระดับสูง เป็นต้น

ส่วนในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2030 ธนาคารออมสินตั้งเป้าที่จะไม่ปล่อย สินเชื่อและลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจถ่านหิน, เร่งเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อโครงการโรงไฟฟ้าเป็นโรงงานไฟฟ้าสะอาด ให้เป็น 35%, เพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเป็น 40% ให้กับบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีการจัดทำแผนการลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 และ เร่งดำเนินการปลูกและอนุรักษ์ป่า 50,000 ไร่ ในปี 2576, ไม่ลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจน้ำมันและก๊าซ และกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนซึ่งบริษัทร่วมลงทุนหรือเป็นลูกค้าสินเชื่อกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2593

และอีก 17 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2040 ออมสินตั้งเป้าที่จะไม่ลงทุน และถือหุ้นกู้ และปล่อยกู้ในบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจน้ำมันและก๊าซ, เพิ่มสัดส่วน สินเชื่อโครงการไฟฟ้า พลังงานสะอาดให้เป็น 60% และเพิ่มการลงทุนและปล่อยสินเชื่อ 100% ให้กับบริษัทจดทะเบียนที่กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 รวมทั้งจะประกาศนโยบายเพิ่มเติมไม่ให้สินเชื่อเพิ่มในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้รับการรับรอง greeb Building

ธนาคารได้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้มีการออกผลิตภัณฑ์การเงินที่ช่วยขับเคลื่อนการดูแลสิ่งแวดล้อมบ้างแล้ว ภายใต้โครงการ GSB For BCG Economy

อาทิ สินเชื่อ GSB Green Biz สำหรับ ผู้ประกอบการธุรกิจเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน หรือ refinance ดอกเบี้ยเริ่มต้น ปีที่ 1-2 (MOR / MLR -2.5%) ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี กู้ได้ทั้งบุคคลและนิติบุคคล วงเงินกู้ตั้งแต่ 1 ล้านบาท ขึ้นไปไม่จำกัดวงเงินกู้ อนุมัติและจัดทำนิติกรรมสัญญาภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2566

สินเชื่อ Green Home Loan สำหรับ ผู้บริโภครายย่อยที่มีความต้องการซื้อบ้านประหยัดพลังงาน และสินเชื่อบุคคล GSB Go Green ตอบสนองผู้ที่ต้องการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดภาระค่าไฟ หรือติดตั้งแผง โซลาร์ หรือซื้อรถยนต์ไฟฟ้า, สินเชื่อ GSB EV Supply Chain สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ Supply Chain ได้แก่ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (OEM) ผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการจัดจำหน่าย ESG Bond ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ของตราสารหนี้ภาครัฐ และติด 1 ใน 10 ของตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงินจัดจำหน่ายรวม 20,000 ล้านบาท

นอกจากการบริหารจัดการด้านการลงทุน และจัดระบบสินเชื่อเพื่อตอบโจทย์ลดการปล่อยคาร์บอนแล้ว ภายในองค์กรของธนาคารออมสินได้มีการดำเนินโครงการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนด้วยเช่นกัน

โดยธนาคารได้เดินหน้าโครงการบริหารจัดการการลดการปล่อยคาร์บอนไปแล้วหลายโครงการ อาทิ จัดซื้อจัดจ้างดำเนินการติด SOLAR ROOFTOP ในสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขา จำนวน 300 แห่ง และมีเป้าหมายที่จะติดตั้งให้ครบ 900 สาขาของธนาคารภายในปี 2568, ทำแผนเปลี่ยนรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์อีวี และติดตั้งเป็นจุดชาร์จรถยนต์อีวี โดยในกทม.มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนยานยนต์เป็นอีวี 100% ภายใน 3 ปี ส่วนสาขาในต่างจังหวัดภายใน 5 ปี

ธนาคารยังให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการส่งเสริมนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบ ที่เกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ด้วยการจัดสรร งบประมาณเพื่อนำไปดำเนินโครงการด้าน สิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือสังคมอีกหลายโครงการ

เช่น โครงการธนาคารปูแหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี สนับสนุนอุปกรณ์ขยายพันธุ์ปูม้า เยี่ยมชมโรงอนุบาลพันธุ์ปูม้าของธนาคารปูแหลมผักเบี้ยและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พร้อมร่วมปล่อยพันธุ์ปู ณ ชายหาดทรายเม็ดแรก โดยมีชาวประมง 2,706 คน เข้าร่วม สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 54.5 ล้านบาท โครงการบ้านปลารักษ์ไทย วางปะการังเทียมระยะทาง 5725 เมตร ในฟื้นที่ชายฝั่งทะเล อ.เมือง จ.ปัตตานี ช่วยเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัย เพิ่มรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้าน 2,000 ครัวเรือน เป็นต้น

โครงการทั้งหมดที่ดำเนินการน่าจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้บ้าง

มยุรี นวมมี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน