มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) โดย รศ.ดร.วาริน อินทนา อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ในฐานะที่ปรึกษา บริษัท วลัยไบโอคอนโทรล จำกัด และ น.ส.ปรารถนา อัตตะมณี กรรมการผู้จัดการบริษัทต้อนรับ ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือเทดฟันด์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการลงพื้นที่ติดตาม โครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ชีวภัณฑ์มาตรฐานสากล ที่ศูนย์ผลิตและการบริการชีวินทรีย์เกษตร ม.วลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช จากการที่ มวล.รับทุนโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) โปรแกรม “Proof of Concept” จากกองทุนพัฒนา ผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (เทดฟันด์)

น.ส.ปรารถนา กรรมการบริษัท วลัยไบโอคอนโทรล จำกัด กล่าวว่า ปัญหาพืชขาดธาตุอาหาร ความเสียหายจากการเข้าทำลาย ของศัตรูพืช การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางการเกษตรที่เกิดจากการดูแลพืชไม่เหมาะสม ส่งผลให้ผลผลิตพืชด้อยคุณภาพและลดปริมาณลดลงนั้น โครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ภายใต้การดูแลและบ่มเพาะ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ จึงผลิตชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส มาแก้ปัญหาดังกล่าว

โดยนำเชื้อและสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการปลูกพืช 5 องค์ประกอบได้แก่ เชื้อรา Trichoderma asperellum NST-009 เชื้อรา Metarhizium anisopliae WU-003 เชื้อรา Beauveria bassiana WU-002 ธาตุอาหารรองที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต (แคลเซียมและแมกนีเซียม) และสารเสริมความแข็งแรง และกระตุ้นการงอกของสปอร์เชื้อราปฏิปักษ์ มาผสมกัน และผ่านการทดสอบโดยศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตรว่าสามารถควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราได้ถึง 31 โรค อาทิ โรครากเน่าโคนเน่า โรคแอนแทรคโนส โรคเน่าระดับดิน โรคใบจุด และโรคใบไหม้ ฯลฯ ในพืช 14 ชนิด เช่น ทุเรียน พืชตระกูลส้ม ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว พืชผักต่างๆ และไม้ดอกไม้ประดับ และยังควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น ด้วงแรดมะพร้าว เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ไรแดง และหนอนผีเสื้อต่างๆ ได้อีกด้วย

ด้าน ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า โครงการนี้ ได้รับทุนสนับสนุนในโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น หรือ TED Youth Startup กลุ่ม เป้าหมายคือ นิสิต นักศึกษา และบัณฑิต จบใหม่ไม่เกิน 5 ปี มีการสนับสนุนทุนใน 2 โปรแกรมหลักคือ 1.Ideation Incentive Program (IDEA) สนับสนุนทุนมูลค่า 100,000 บาท เป็นรูปแบบทุนให้เปล่า เพื่อให้ผู้ประกอบการได้พิสูจน์แนวความคิดและความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ ต่อมาคือ 2.โปรแกรม Proof of Concept (POC) โดยโปรแกรมนี้จะสนับสนุนทุนตั้งแต่ 750,000-1,500,000 บาท เป็นรูปแบบทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน เพื่อให้ ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและนำไปพิสูจน์ความ เป็นไปได้ด้านการตลาด

ในปีงบประมาณ 2567 เทดฟันด์ คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้มีมติให้เทดฟันด์ดำเนินโครงการ TED Matching Fund ผ่านกลไกความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยจะสนับสนุนงบอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เติบโตในระยะ Seed ถึง Series-A วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท/ต่อโครงการ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับการร่วมลงทุนและการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้ร่วมลงทุนที่ขึ้นทะเบียนกับเทดฟันด์เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ ซึ่งผู้ขอรับทุนจะมีระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 5 ปี

ผู้ที่สนใจดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://tedfund.mhesi.go.th/ หรือสอบถามข้อมูลการสนับสนุนทุนได้ที่ Line@tedfund

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน