‘เรื่องโบราณศรีเทพ’ จ.เพชรบูรณ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของไทยที่กำลังเป็นกระแสโด่งดังมากที่สุดช่วงเวลานี้ ซึ่งองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) โดยที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2566

ถือเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทยแห่งที่ 4 ต่อจากเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร, นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกรวมทั้งสิ้น 7 แหล่ง

การนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลก เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

ประกอบด้วย แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 3 แหล่ง ที่มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน มีความครบถ้วนสมบูรณ์ และคงความเป็นของแท้ดั้งเดิม ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, โบราณสถานเขาคลังนอก และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์








Advertisement

โดยนำเสนอคุณค่าความโดดเด่น ตามเกณฑ์ของยูเนสโก ได้แก่ เกณฑ์ข้อที่ 2 แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่า ของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง หรือพื้นที่ในวัฒนธรรมใดๆ ของโลก ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยี การวางแผนผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์ และเกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยม หรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณี วัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว

เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนสินค้า เส้นทางการค้า และวัฒนธรรมระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18) ที่มาของชื่อ เมืองโบราณศรีเทพ ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกขานกันว่า “เมืองอภัยสาลี”

ในปี พ.ศ.2447 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ ทรงตั้งพระทัยจะสืบค้นหาเมืองศรีเทพที่ปรากฏในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์และได้พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออกของภูเขาถมอรัตน์ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเมืองวิเชียรบุรีนั้นมีชื่อเดิมว่า เมืองท่าโรง และเมืองศรีเทพ

จึงทรงมีพระวินิจฉัยว่าชื่อเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรีว่า เมืองศรีเทพ กรมศิลปากรจึงได้ใช้ชื่อเรียกเมืองโบราณที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำรวจพบว่า เมืองศรีเทพ จนกว่าจะค้นพบหลักฐานเอกสารที่ยืนยันชื่อที่แท้จริงของเมืองโบราณแห่งนี้

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ หรือ ไพศาลี เป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3693 ลงวันที่ 8 มี.ค.2478 และ ในปี 2527 เมืองโบราณศรีเทพ ได้รับ การอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่ง เรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ภายใต้การบริหารจัดการในรูปแบบอุทยานประวัติศาสตร์

ลักษณะทางกายภาพ เป็นเมืองที่มี คูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย เมืองในและเมืองนอก มีพื้นที่ประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,889 ไร่

เมืองใน ผังเมืองค่อนข้างกลม มีพื้นที่ประมาณ 1.87 ตารางกิโลเมตร (1,300 ไร่) ภายในตัวเมืองมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลอนลูกคลื่น มีโบราณสถานกระจายตัวอยู่ 48 แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู มีรูปแบบศิลปกรรมในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) และวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 16-18) ซึ่งมีโบราณสถานที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ ได้แก่ โบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ และโบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองค่อนไปทางทิศตะวันตก นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณทั้งขนาดใหญ่และเล็กอีกจำนวนกว่า 70 แห่ง

เมืองนอก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน มีพื้นที่ประมาณ 2.83 ตารางกิโลเมตร (1,589 ไร่) ผังเมืองค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ภายในตัวเมืองสำรวจพบโบราณสถาน 64 แห่ง มีสระน้ำโบราณจำนวนมาก นอกคูเมืองกำแพงเมืองโบราณ ยังมีการสำรวจพบโบราณสถานอีก 50 แห่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศเหนือของเมือง ที่สำคัญ ได้แก่ โบราณสถานเขาคลังนอก โบราณสถานปรางค์ฤๅษี กลุ่มโบราณสถานเขาคลังสระแก้ว และสระแก้ว สระน้ำโบราณขนาดใหญ่ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกนอกเมืองโบราณศรีเทพห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเขา ถมอรัตน์ ภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะ ซึ่งใช้เป็นจุดสังเกตในการเดินทางที่สำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

บริเวณเชิงเขาเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือและกำไลหินที่สำคัญ ต่อมาในสมัยทวารวดีมีการดัดแปลงถ้ำหินปูนที่ตั้งอยู่ทางด้าน ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาให้เป็น ศาสนสถาน ในพุทธศาสนาแบบมหายาน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14

ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม ในฐานะประธานอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ได้ร่วมรับชมการพิจารณาขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ผ่านระบบการถ่ายทอดสดภาพและเสียงผ่านอินเตอร์เน็ต พร้อมแถลงข่าวการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ

พล.ต.อ.พัชรวาท-นายเสริมศักดิ์ ร่วมแสดงความยินดี

พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าวว่า การที่ยูเนสโกได้ประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน ซึ่งเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรม

ขณะเดียวกัน จะกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการหวงแหน และอนุรักษ์ทรัพยากรที่เป็นทุนสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวตามมา

ด้านนายเสริมศักดิ์กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เพื่อรองรับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพภายหลังจากการได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก

โดยแผนดังกล่าวได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ และการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในพื้นที่แล้ว ครอบคลุมทั้งเรื่องการอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แผนบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การจัดทำแผนชุมชนด้านการจัดการ สิ่งแวดล้อม และการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ประกาศยกเว้น ค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 20-24 ก.ย.2566 โดยเปิดให้บริการทุกวันเวลา 08.30-16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

นอกจากนี้ ยังจัดแสดงนิทรรศการ เรื่อง ศรีเทพกับมรดกโลก ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.2566-14 ม.ค.2567 เพื่อเผยแพร่เรื่องราว คุณค่า และความสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพ ให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกในครั้งนี้

การขึ้นทะเบียน เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือและการร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้อง แหล่งอันทรงคุณค่าให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ และสมบัติอันล้ำค่าของคนทั่วโลกและคนรุ่นหลังต่อไป

หมายเหตุ : ภาพถ่ายจากกรมศิลปากร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน