ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 26 ก.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า คณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีนายนภาพล จีระกุล ส.ก. เขตบางกอกน้อย เป็นประธาน ได้สรุปผลการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเสนอให้ฝ่ายบริหาร กทม. เจรจากับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) แยกสัญญาส่วนหนี้ค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M ) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จากส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ตามคำสั่ง มาตรา 44 ต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตัดสินความชัดเจนจะดำเนินการอย่างไร

นายชัชชาติกล่าวว่า ฝ่ายบริหาร เห็นด้วยกับแนวทางแยกหนี้ ดังกล่าว เนื่องจากหนี้ อีแอนด์เอ็ม ได้ของมาใช้ จับต้องได้ กทม.มีอำนาจต่อรองมากกว่า เพราะถ้าไม่ได้ของ หากเอกชนหยุดเดินรถอาจเดือดร้อนได้ ส่วนหนี้ โอแอนด์เอ็ม เป็นค่าใช้จ่ายการจ้างเดินรถต้องมีการวิเคราะห์ตัวเลขหลายส่วน อีกทั้งเป็นก้อนหนี้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาต่อสัญญาสัมปทาน โดยคณะกรรมการวิสามัญจะรายงานสภา กทม.ทราบวันที่ 27 ก.ย. หากสภากทม.มีมติรับหลักการให้ฝ่ายบริหารแยกหนี้ อีแอนด์เอ็ม ขั้นตอนต่อไปจะต้องรายงานกระทรวงมหาดไทย (ครม.) เพื่อเสนอครม. พิจารณา หากไม่ขัดข้องตามที่เสนอ ฝ่ายบริหารจะต้องนำเรื่องเสนอสภากทม.อีกครั้งเพื่ออนุมัติงบจ่ายหนี้ โดยเตรียมเงินไว้แล้วเป็นเงินสะสมจ่ายขาด

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการแยกหนี้ ตามผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญ ให้ฝ่ายบริหารไปเจรจากับเอกชน ยินดีทำตาม เพราะต้องรีบจ่ายหนี้ ดอกเบี้ยเดินทุกวัน แต่อยู่ดีๆ จะไปจ่ายเลยไม่ได้ ต้องให้สภากทม.อนุมัติเงิน ถ้าสภากทม.ไม่เข้าใจก็เสียเวลาเปล่า วิธีนี้ถือว่าดีและรอบคอบที่สุดที่ให้สภากทม.ไปศึกษา พอเรื่องเข้าสภากทม. เรื่องก็จบ เพราะถ้าอยู่ๆ ไปขอสภา กทม. ให้จ่ายเงินคงไม่มีทางและให้ไปเจรจาอยู่ดี เหตุผลที่กทม.ต้องรายงานมท.และเสนอครม.เห็นชอบการแยกหนี้ อีแอนด์เอ็ม ก่อน เพราะถ้ากทม.จ่ายหนี้ไปก่อน

ขณะที่คณะกรรมการตามคำสั่งมาตรา 44 มีการศึกษาเอาหนี้ อีแอนด์เอ็ม ไปรวมกับหนี้ โอแอนด์เอ็ม ตามเงื่อนไขสัมปทานใหม่ หากดึงหนี้อีแอนด์เอ็มมาจ่ายก่อน และถ้าครม.มีมติไม่ต่อสัมปทานจะทำให้เงื่อนไขสัมปทานถูกเปลี่ยนใหม่ แล้วหนี้ที่ กทม.จ่ายไปแล้วจะเอาได้หรือไม่ ดังนั้นจึงต้องให้ ครม.เห็นชอบก่อน จึงจะดำเนินการได้ โดยในสัปดาห์นี้มีการนัดหมายกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะมีการนำเรื่องแนวทางการแยกหนี้หารือกับนายอนุทิน เพื่อขอทราบแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ในการจัดทำข้อเสนอเพื่อรายงานมท. และเสนอครม.พิจารณาตามลำดับต่อไป

นายชัชชาติยังกล่าวถึงกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ว่า การแก้คดี แก้ข้อกล่าวหาต่างๆ ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น อีกหนึ่งปัญหาคือเรื่องบุคลากร ปริมาณงานมากขึ้นแต่บุคลากรมีจำกัด อาจต้องพัฒนาระบบดิจิทัลเข้ามาช่วย ส่วนเรื่องคดีต่างๆ ของกทม. จะดำเนินการด้วยความรอบคอบให้มากขึ้น นำอดีตมาเป็นบทเรียน อาจต้องมีการลำดับคดีว่าคดีไหนมีผลกระทบสูง มีความเสียหายสูง ส่งผลกระทบต่อประชาชนมาก ซึ่งอาจต้องมีผู้บริหารระดับรองผู้ว่าฯ รองปลัด เข้าไปกำกับดูแลในการประสานงานกับอัยการที่เป็นทนายให้อย่างใกล้ชิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน