ช่วงเลือกตั้ง พ.ค.2566 พรรคเพื่อไทย (พท.) หาเสียง ด้วยการชูเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท ภายในปี 2570

เป็น 1 ใน 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศ แต่กลับไม่บรรจุไว้อย่างชัดเจนในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ต่อรัฐสภา

ต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ยืนยันชัดเจนว่า เรื่องค่าแรงขั้นต่ำจะมีการประกาศในเดือนพ.ย.นี้ และมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนได้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 แต่จะปรับขึ้นเท่าไหร่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมอย่างรอบด้าน โดยตั้งเป้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน

ขณะที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน สังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.) รับลูกสนองนโยบายอย่างเต็มที่

โดยนายพิพัฒน์เดินสายหารือกับภาคเอกชนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับค่าแรงเป็นวันละ 400 บาท ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย

เบื้องต้นการขึ้นค่าแรง 400 บาท จะเป็นการจ่ายตามทักษะ หรือ Pay by skill เน้นแรงงานไทย หรือเป็น กลุ่มแรงงานที่มีการเพิ่มทักษะแล้ว

หลังจากหารือกับนายจ้าง และลูกจ้างแล้วจะกำหนด รายละเอียดอีกครั้งว่าจะปรับขึ้นในภาคอุตสาหกรรมไหน ได้บ้าง และจะนำไปหารือในคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายรัฐบาล คาดว่าจะสรุปตัวเลขการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ภายในเดือนพ.ย.นี้ โดยคำนึงถึงค่าเงินเฟ้อด้วย

แต่นายพิพัฒน์ยืนยันการขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวัน ไม่ขึ้นแบบกระชาก เพราะจะกระทบนายจ้าง และ ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี

ขณะที่นักธุรกิจเอกชนมีความเห็น ดังนี้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้เสนอกับรมว.แรงงานแล้ว โดยยืนยันว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรต้องเป็นไปตามกลไก ของคณะกรรมการไตรภาคี โดยยึดตามอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ รวมทั้งความต้องการแรงงานในแต่ละจังหวัดเป็นหลัก เนื่องจากค่าแรงถือเป็นต้นทุนสำคัญที่จะส่งผลต่อภาคการผลิต และบริการที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น

หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ จะเป็นการขึ้นแบบกระชากจากฐานค่าแรงเดิมในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 328-354 บาท โดยกลุ่มที่ค่าแรงต่ำสุดจะมีต้นทุน สูงขึ้น 20% และมากที่สุดก็ต้นทุนสูงขึ้น 13% ถือว่าได้รับผลกระทบสูง ส.อ.ท.จึงเน้นย้ำว่าการขึ้นค่าแรงจะต้องเป็นไปตามกลไกไตรภาคี จึงจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้

จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ครึ่งหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จึงเป็นการจ้างแรงงานทักษะสูง ซึ่งมีการจ่ายค่าแรงตามทักษะของแรงงานอยู่แล้วที่ 600- 900 บาทต่อวัน

ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น เกษตรอุตสาหกรรม ประมง อาหารทะเล และแปรรูปอาหาร ภาครัฐจำเป็นต้องให้เวลากลุ่มเหล่านี้ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบออโตเมชั่น และการใช้หุ่นยนต์ราว 3-5 ปี โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเอสเอ็มอีที่ต้องการมาตรการช่วยเหลือ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้อุตสาหกรรมมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้

ส่วนอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ และมีการใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ให้เชิญชวนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่า ซึ่งเป็นไปตามกลไกที่เกิดขึ้นทั่วโลก

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหากับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน แต่อยาก ให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า เพราะถ้าปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และโรงแรมจะได้รับความเดือดร้อน

ส่วนภายในปี 2570 ที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาทต่อวันนั้น มองว่าเป็นนโยบาย ที่ทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องปรับหาวิธีจ้างงานเพื่อควบคุมต้นทุน เช่น เพิ่มสัดส่วนการจ้างงานเป็นแบบพาร์ตไทม์ รายชั่วโมงมากขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการผลิต

“ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมมี การจ่ายค่าแรง และปรับขึ้นค่าแรงตามทักษะ อยู่แล้ว เมื่อรัฐบาลจะเดินหน้านโยบายขึ้นค่าแรง อยากให้เป็นการขึ้นค่าแรงตามทักษะที่มีการ Upskill และ Reskill มาแล้ว และต้อง ช่วยเหลือภาคเอกชนในการยกระดับทักษะ ฝีมือแรงงานด้วย”

ขณะเดียวกันอยากให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเรื่องลดต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่าไฟ และน้ำมัน รวมถึงออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบบูสเตอร์ช็อต เหมือนโครงการเราเที่ยวด้วยกันของรัฐบาลชุดที่แล้ว เพื่อกระตุ้นรายได้จากตลาดไทยเที่ยวไทย และลดความเสี่ยงของตลาดต่างประเทศ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี สมาคมโรงแรมไทยจึงขอให้ยับยั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้ตระหนักถึงความ เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และศักยภาพในแต่ละพื้นที่จังหวัดที่หลายพื้นที่ยังคงอยู่ในระยะฟื้นตัว ยังมีประเด็นเรื่องราคาพลังงาน ค่าแก๊ส ค่าไฟ ที่ยังคงเป็นต้นทุนที่สูงมากในภาคธุรกิจโรงแรม รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการด้วย

นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน และ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 เฉลี่ยปรับขึ้น 14-15% นั้น ทุกฝ่ายต้องหารือร่วมกัน เพราะอัตราค่าแรงสูงเกินไปแต่อาจจะไม่มีงานทำ เพราะกระทบหลายภาคส่วน อาจทำให้ผู้ประกอบการลดบุคลากรในการทำงาน ในขณะที่แรงงานที่ยังทำงานอยู่ก็จะทำงานมากขึ้น

“สำหรับระยะยาว หากมีการปรับขึ้นค่าแรงที่สูง นักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในไทยมีโอกาสเปลี่ยนแผนลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงถูกกว่า รัฐบาลจึงต้องมองหลายมิติเพื่อไม่ให้กระทบประชาชน เพราะหากขึ้นค่าแรง แต่ไม่มีการควบคุมราคาสินค้า จะมีผลกระทบอย่างแน่นอน ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์จะกระทบราคาที่อยู่อาศัยปรับสูงขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน” นายวสันต์กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประเด็นค่าแรงขั้นต่ำของ ไทยแล้ว ประเทศไทยไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี และมีการขึ้นค่าแรงตั้งแต่หลักหน่วย ไปจนถึงหลักสิบ โดยในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมามีการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดสูงสุดในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2555 ที่ขึ้นจาก 215 บาทต่อวัน ไปเป็น 300 บาทต่อวัน ตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้

โดยยุคนั้นปรับค่าแรงทั้งหมด 2 ครั้ง ปรับครั้งที่ 1 ได้ 300 บาทต่อวัน ใน 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ปรับครั้งที่ 2 เป็น 300 บาทต่อวัน ทั่วประเทศในปี 2556

ถัดมาสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำตามสภาพเศรษฐกิจ ตามประกาศคณะกรรมการไตรภาคี ไม่ใช่ปรับตามนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำรัฐบาลขณะนั้น ที่มีการหาเสียงไว้ว่าจะปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาทต่อวัน โดยรัฐบาลปรับขึ้น 5.02% เป็น 328-354 บาท

ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลนี้วางไทม์ไลน์จะให้มีผลวันที่ 1 ม.ค.2567 นั้น คณะกรรมการไตรภาคีจะพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ใน 2 แนวทาง

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ทุกจังหวัดพร้อมกันตั้งแต่ 46-72 บาท

และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท นำร่องเฉพาะบางจังหวัดก่อน

แม้เรื่องนี้ ‘ผู้ประกอบการ’ จะมีข้อห่วงใยมากมาย

แต่เป็นความหวังของ ‘ผู้ใช้แรงงาน’ ที่รัฐบาล คงต้องผลักดันไปสู่เป้าหมายตามสัญญา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน