หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ สรรหาบุคคลเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. นายเศรษฐาได้ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 256/2566 เรื่อง แต่งตั้ง คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกอบด้วย

1.นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน 2.นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง 3.นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธาน คนที่สอง 4.นายนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา ทำหน้าที่โฆษกคณะกรรมการ และเป็นบุคคล ที่อยู่ในกระบวนการทำรัฐธรรมนูญ 2540 5.นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี 6.พล.อ.ชัชวาล ขำเกษม อดีตเจ้ากรมเสมียนตรา 7.พล.ต.อ.วินัย ทองสอง คณะกรรมการข้าราชการ ตำรวจ (ก.ตร.) 8.พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา อดีตรองผบ.ตร. 9.นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นตัวแทนอัยการ 10.นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว

ตัวแทนพรรคการเมือง ประกอบด้วย 11.นายนพดล ปัทมะ 12.น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ จากพรรคเพื่อไทย 13.นายศุภชัย ใจสมุทร จากพรรคภูมิใจไทย 14.นายไพบูลย์ นิติตะวัน จากพรรคพลังประชารัฐ 15.นายธนกร วังบุญคงชนะ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ 16.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม จากพรรคประชาชาติ 17.นายวิรัตน์ วรศสิริน จากพรรคเสรีรวมไทย 18.นายเดชอิศม์ ขาวทอง จากพรรคประชาธิปัตย์ 19.นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ จากพรรคไทยสร้างไทย ขณะที่พรรคก้าวไกลได้ตอบรับหลักการ โดยขอพิจารณาบุคคลเข้าร่วมต่อไป

ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย 20.นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี 21.นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย 22.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา 23.นายยุทธพร อิสรชัย 24.ตัวแทนพรรคก้าวไกล 25.นายประวิช รัตนเพียร อดีตคณะกรรมการ การเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน 26.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท 27.นายวิเชียร ชุปไธสง 28.นายวัฒนา เตียงกูล 29.นายธงชัย ไวยบุญญา ประธานสหภาพแรงงานการประปาส่วนภูมิภาค 30.นายเทวัญ ลิปตพัลลภ

31.นายชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์ ตัวแทนนักศึกษา 32.นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ 33.นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกฯ เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ 34.นายนพดล เภรีฤกษ์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกฤษฎีกา 35.นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกฯ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

นายภูมิธรรม เปิดเผยว่า ตนใช้เวลา 2 สัปดาห์ ในการรวบรวมรายชื่อจากวิชาชีพต่างๆ โดยพูดคุย ถึงหลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งการแก้ไขต้องเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น และจะดำเนินการ ให้เสร็จภายในเวลา 4 ปี ที่เป็นรัฐบาล รวมทั้งทำกฎหมายลูกให้เสร็จพร้อมกัน








Advertisement

โดยนัดประชุมคณะกรรมการนัดแรกในวันที่ 10 ต.ค. เวลา 15.00 น. เพื่อวางกรอบทำงาน และพบปะพูดคุยกับทุกภาคส่วน ภายใน 3-4 เดือน น่าจะได้ข้อสรุปกระบวนการทำงาน ทั้งวิธีการ และแนวทางในการทำประชามติต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำประชามติได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2567

สำหรับรายชื่อ 35 คน ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่หลังจากนี้จะมอบคณะกรรมการแต่ละคนไปประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความครอบคลุมมากที่สุด โดยจะเชิญตัวแทนองค์การมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มเกษตรกร สมาคมวิชาชีพสื่อและจะเชิญตัวแทนพรรค ขนาดเล็กมาพูดคุยภายหลัง

“ยืนยันเราเปิดรับฟังทุกอย่าง ยกเว้นแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 อยากให้แต่ละฝ่าย เสนอความเห็นมากที่สุด และจะต้องทำให้เสร็จภายใน 3-4 ปี การทำประชามติจะยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญต้องผ่านความ เห็นชอบด้วย”

นอกจากนี้ จะมีเวทีไปรับฟังความเห็น ใน 3 ประเด็นคำถาม คือ 1.กระบวนการแก้ไขและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรทำแบบใด เช่น ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่

2.หากมีกระบวนการจัดทำประชามติ เพื่อจัดทำ ธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องทำประชามติกี่ครั้ง เพื่อลดงบประมาณในการดำเนินการ ยกตัวอย่าง ถ้าดูเร็วๆ อาจทำ 4-5 ครั้ง แต่หากปรับให้เหลือทำ 2 ครั้ง จะใช้งบ 5,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

3.คำถามในการทำประชามติครั้งแรก ควรเป็นอย่างไร จะให้ครอบคลุมแค่ไหน

ส่วนการป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับ ที่จะแก้ไขถูกฉีกได้อย่างไร นายภูมิธรรมกล่าวว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับพยายามป้องกันไม่ให้ถูกฉีก แต่การถูกฉีกหรือไม่นั้น เป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ให้ประชาชนตื่นตัวรับรู้ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเห็นรัฐประหาร เมื่อรัฐประหาร จะทำให้กลไกอำนาจต่างๆ ไปรวมศูนย์ และไม่สร้างประโยชน์เท่าที่ควร

การรัฐประหารครั้งล่าสุดนำประเทศไปสู่ความล้มเหลว จึงต้องสร้างระบอบประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีสำนึกมากขึ้น เพราะจะทำให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้ยาก

วันเดียวกัน พรรคก้าวไกลมีมติที่ประชุมสส.ไม่ร่วมเป็นคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติ แต่หากคณะกรรมการต้องการความเห็นหรือข้อมูล ยินดีเข้าไปร่วมประชุมและให้ความเห็น แค่ขอไม่รับตำแหน่งจนกว่าจะมีจุดยืนชัดเจน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกลระบุว่า หลักการพื้นฐานที่พรรคก้าวไกลยึดถือและมองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คือ จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งฉบับ ไม่ใช่การแก้ไขเพียงบางหมวด หรือ บางมาตรา และ จัดทำโดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ใช่ ส.ส.ร. ที่มีส่วนผสมของการแต่งตั้ง

ทั้ง 2 หลักการนี้ ยังเป็นข้อสรุปที่หลายฝ่ายทางการเมืองเคยมีร่วมกัน ทั้งผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ในปี 2562-2563 รวมถึงผลการลงมติของรัฐสภา ในปี 2563-2564

หากรัฐบาลยังไม่ยืนยันว่าการทำงานของคณะกรรมการศึกษาจะอยู่ภายใต้ 2 หลักการสำคัญดังกล่าว

พรรคก้าวไกลกังวลว่าคณะกรรมการศึกษาชุดนี้ อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการย้อนหลักการสำคัญที่เคยได้ข้อสรุปร่วมกันมาก่อน

เป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่เพียงการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

พรรคก้าวไกลหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาล และคณะกรรมการจะได้ข้อสรุปโดยเร็วในการเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน