วันหลอดเลือดอุดตันโลก หรือ World Thrombosis Day (WTD) ตรงกับวันที่ 13 ต.ค.ของทุกปี

โดย ศ.นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์ นายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลอดเลือดอุดตัน (Thrombosis) เป็นภาวะที่ลิ่มเลือดก่อตัวและไปอุดตันในหลอดเลือด จากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติหรือผนังหลอดเลือดผิดปกติ สามารถเกิดได้ทั้งในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ซึ่งหากลิ่มเลือดที่อุดตันหลุดไปตามกระแสเลือดจะเป็นอันตรายต่อร่างกายและโรคอื่นๆ ตามมามากมาย จากรายงานของ International Society on Thrombosis and Haemostasis (ISTH) พบว่า 1 ใน 4 ของผู้คนทั่วโลก หรือราว 100,000 คนในแต่ละปีเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน ถือเป็นจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดในแต่ละปีจากโรคเอดส์ มะเร็ง เต้านม และอุบัติเหตุทางรถยนต์รวมกัน

ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้ ช่วยอำนวยความสะดวก และเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้สร้างผลดีมหาศาล แต่ใน ขณะเดียวกันยังเพิ่มความเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะการเกิด ‘ลิ่มเลือด’ ที่จะไปชะลอการไหลเวียนของโลหิตในหลอดเลือด และนำมาสู่ภาวะ ‘หลอดเลือดอุดตัน’ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงได้

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อ “ภาวะหลอดเลือดอุดตัน” สามารถแบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ ได้ดังนี้

การรักษาตัวในโรงพยาบาลและการผ่าตัด พบว่ากว่า 60% ของผู้ป่วยหลอดเลือดอุดตันเกิดขึ้นระหว่างการพักรักษาตัวใน โรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน หรือผู้ที่มีบาดเจ็บบริเวณหลอดเลือดจากการผ่าตัด ซึ่งการพักฟื้นเป็นระยะเวลานานจะทำให้ผู้ป่วยขยับตัวได้น้อยและนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดได้

ความเสี่ยงจากโรคร้าย ซึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งมีความเสี่ยงเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันร้ายแรงสูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า ผลการศึกษาในประเทศไทยพบว่า ประมาณ 2-3% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนและผลลัพธ์ในการรักษาอาจไม่ดีเท่าผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะลิ่มเลือด โดยความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหลอดเลือด อุดตันจะขึ้นอยู่กับประเภทของมะเร็ง ขณะเดียวกันผู้ป่วยโรคหัวใจจะมีการทำงานของหัวใจและปอดที่จำกัด เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดและภาวะหัวใจล้มเหลว

การใช้ยาคุมกำเนิดและการตั้งครรภ์ พบว่า การใช้ยาคุมกำเนิดหรือยาที่มีส่วนประกอบของเอสโตรเจน สามารถเพิ่มการแข็งตัวของเลือด โดยเฉพาะหากสูบบุหรี่หรือมีน้ำหนักเกินร่วมด้วย ในขณะที่การตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เลือดข้นทันทีหลังจากการปฏิสนธิ และจะข้นไปตลอดจนถึงประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด ประกอบกับน้ำหนักของมดลูกที่กดทับหลอดเลือดดำในกระดูกเชิงกรานอาจทำให้เลือดไหลออกจากขาได้ช้าลง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดขึ้นได้








Advertisement

ความเสี่ยงจากพฤติกรรมพบว่า การนั่งเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน หรือการนั่งในท่าที่เป็นตะคริวเป็นเวลานาน (มากกว่า 4 ชั่วโมง) จะทำให้เลือดไหลเวียนที่ขาช้าลง ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือด ในขณะเดียวกัน การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือด ในหลอดเลือดดำอุดตัน (VTE) และโรคร้ายแรงอื่น

ความเสี่ยงทางกายภาพ พบว่าหากมีบุคคลในครอบครัวเป็น หลอดเลือดอุดตันจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ในเพศหญิง อายุ 20-40 ปี มีความเสี่ยงมากกว่าเพศชายจากการใช้ยา คุมกำเนิดและการตั้งครรภ์ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุมีโอกาสหลอดเลือดอุดตันได้มากกว่า เพราะเลือดจะเหนียวมากขึ้น ในขณะที่คนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปจะมีความเสี่ยงมากขึ้น 2-3 เท่า จากเซลล์ไขมันที่ผลิตสารทำให้เลือดเหนียวขึ้น ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงพฤติกรรมส่วนบุคคลด้วย

“กุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ดีที่สุดคือ ‘การป้องกัน’ ซึ่งคนทั่วไปสามารถทำได้ด้วยตัวเอง อาทิ การเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง อย่างการสูบบุหรี่ และนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน การขยับร่างกายและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายและดีที่สุด นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเข้าข่ายความเสี่ยงควรเข้าพบแพทย์เพื่อ ประเมินความเสี่ยงเป็นประจำ การรู้ล่วงหน้า จะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับภาวะหรือโรคร้ายแรงที่จะตามมาได้ทันท่วงที” ศ.นพ.พลภัทรกล่าว

ศ.นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์

สำหรับวันหลอดเลือดอุดตันโลก หรือ World Thrombosis Day (WTD) ในปี 2023 นี้ องค์การสากลเกี่ยวกับลิ่มเลือดอุดตันและกลไกการห้ามเลือด (International Society on Thrombosis and Haemostasis : ISTH) ได้ผลักดันแคมเปญ ‘60 For 60 Fitness Challenge’ เชิญชวนทุกคนขยับร่างกายเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 60 วินาที ทุกๆ 60 นาที ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เดินในสวนที่บ้าน เต้น กระโดดตบ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดนั่นเอง

ส่วนประเทศไทยในปีนี้ สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ‘ลิ่มเลือดอุดตันภัยเงียบที่ป้องกันได้’ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็ง ในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.worldthrombosisday.org, Facebook World Thrombosis Day และ Twitter @thrombosis day #WTDay23 #WTD60for60 #World ThrombosisDay #MoveAgainstThrombosis

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน