50 ปี 14 ตุลาคม 2516 ความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย นักศึกษาประชาชนล้นหลามขับไล่เผด็จการ “3 ทรราช”

ประเทศไทยไม่เคยมีการชุมนุมเดินขบวนที่คนเข้าร่วมมากมายขนาดนั้นมาก่อน จนบัดนี้ก็ยังไม่มี ถ้าเทียบจำนวนประชากร แต่ 50 ปีผ่านไป 14 ตุลาเหมือนถูกลืมเลือน ซ้ำถูกด้อยค่าในความทรงจำ ของคนรุ่นปัจจุบันที่กำลังต่อสู้ทางการเมือง

ทำไมเป็นเช่นนั้น ข้อแรก คนรุ่นหลังทั้งคนเสื้อแดงปี 53 และม็อบสามนิ้ว in 6 ตุลามากกว่า มีอารมณ์เจ็บปวดร่วมกับ “ประเทศกูมี” แขวนคอเก้าอี้ฟาด เพราะถูกกระทำ ถูกปราบปราม ถูกปลุกความเกลียดชังเหมือนกัน จนรู้สึกมีศัตรูร่วมกัน

ข้อสอง คุณค่า 14 ตุลาถูกย้อนมองจากคนรุ่นปัจจุบันว่า “โดนปล้นชัยชนะ” “เตะหมูเข้าปากหมา” ประชาชนไม่ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง อีก 3 ปีเกิดรัฐประหาร 6 ตุลา แล้วเข้าสู่ประชาธิปไตยใต้อำนาจครอบงำ

คุณคาดหวังจะให้แกนนำนักศึกษา ซึ่งตอนนั้นอายุแค่ 18-22 ยึดอำนาจปกครองประเทศ? ถ้ามองอดีตอย่างเป็นจริง ก็ต้องยอมรับว่าชนชั้นนำกับทหารแย่งชิงอำนาจกัน แล้วช่วงชิงโอกาสที่ประชาชนขับไล่ถนอมประภาสออกไป

กระนั้นก็ไม่ใช่ “ประชาชนตายฟรี” 14 ตุลาเกิดเพราะ “เขื่อนแตก” ความเหลืออดต่อรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศ 16 ปี ปลุกประชาชนออกมาเดินขบวน ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ แต่แทบทุกจังหวัด เหมือนปลุกยักษ์ตื่นจากหลับ จากวันนั้นจนวันนี้ Mass Politics อยู่คู่กับการเมืองไทย แม้เกิดรัฐประหารเกิดการปราบปรามเป็นพักๆ การเคลื่อนไหวเรียกร้องของประชาชน เกษตรกร คนงาน ก็มีอย่างต่อเนื่อง

นั่นคือส่วนหนึ่งของคุณูปการ 14 ตุลา ซึ่งน่าเสียดายว่าไม่มีการย้อนศึกษาให้ครบทุกด้าน เพราะช่วง 3 ปี 2516-2519 มีความเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่มีผลทั้งแง่โครงสร้างและความคิดวัฒนธรรมประชาธิปไตย ที่ยังคงอยู่ต่อมา แม้ถูกปราบทางการเมือง

ประการที่สาม 14 ตุลาถูกด้อยค่าเพราะ “คนเดือนตุลา” ที่เคยสู้เผด็จการ กลายเป็นเสื้อเหลืองหนุนรัฐประหารปี 49 มากกว่าครึ่ง โดยเฉพาะอดีตแกนนำที่มีชื่อเสียง ทำให้คนรุ่นหลังก่นพึม

คนตุลาทำไมเปลี่ยนไป เป็นคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า และตอบได้หลายคำตอบ

คำตอบแรก ไม่ได้คิดเหมือนกันตั้งแต่แรก แบบกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญนำพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ร.7 มาใช้ กลุ่มอื่นที่มีหลากหลายก็ไม่เห็นด้วย แต่ตอนนั้นไม่ใช่เวลาด่ากันเอง 14 ตุลา คือแม่น้ำร้อยสายไหลมารวมกัน พวกอนุรักษนิยมก็มี ซ้ายก็มี ขวาก็มี อิทธิพลเสรีนิยมจากอเมริกายุค 70 ก็เยอะ

คำตอบถัดมา คนตุลามีช่วงชีวิตต่อสู้ราว 10 ปี แล้วมีชีวิต แตกต่างไปคนละทางอีก 30 ปี (ถ้านับถึงปี 49) ความคิดพวกเขาเปลี่ยนไป ตามประสบการณ์ การต่อสู้ชีวิต สังคมรอบข้าง เป็นนักการเมือง เป็นนักธุรกิจ เป็น NGO เป็นสื่อ หรือล้มเหลวทุกด้านในชีวิต เพียงมีอดีตร่วมกันในการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์

ในอีกทาง อุดมการณ์ “ปฏิวัติโค่นล้มสังคมเก่า” ก็อาจตกค้าง ในแง่เคยหวังยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังอาวุธ เชื่อเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นเผด็จการคนดีแบบหนึ่ง ยังเกลียดทุน (สามานย์) ไม่เชื่อประชาธิปไตยทุนนิยม มองว่าศักดินานิยมหมดอันตรายแล้ว ฯลฯ

ไม่ว่าเหตุใดมันก็ทำให้คนตุลาเสื่อม กระทบถึง 14 ตุลา 6 ตุลา เพียงแต่คนรุ่นหลังยังมีอารมณ์ร่วม 6 ตุลา

เลือกตั้ง 66 ยิ่งตลกร้าย คนตุลาหันมาเลือกพรรคก้าวไกลราว 70-80% อีก 20% เลือกเพื่อไทย อุตส่าห์เลือก “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” กันเกือบหมด ที่ไหนได้เพื่อไทยสลับขั้ว พร้อมกับคำพูดทางยุทธศาสตร์ “อยากไปถึงดวงดาว ไปได้แค่ยอดมะพร้าว”

ทำไมคนตุลาเลือกก้าวไกล เพราะยังคงความใฝ่ฝัน “เปลี่ยนโครงสร้าง” ไม่ว่าเคยเดินแนวทางถูกหรือผิด ตั้งแต่คิดปฏิวัติ จนบางคนหนุนรัฐประหาร แต่การหันมาสู้เปลี่ยนโครงสร้างผ่านพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา ก็เป็นแนวทางที่ถูก

กระนั้นก็มีบางส่วนเชื่อว่าไปไม่ถึงดวงดาว หรือถึง แต่ต้องไปทีละขั้น ไม่เช่นนั้นจะไปได้แค่ยอดมะพร้าวแล้วต้องกลับลงมาใหม่ ต้องผสานอุดมคติเข้ากับความเป็นจริง ไปทีละขั้น กินทีละคำ ฯลฯ

อันที่จริงก็ทฤษฎีเดียวกันนั่นแหละ แต่อยู่ที่การประเมินสถานการณ์ ทุกการต่อสู้ต้องยอมรับว่าไม่มีทางได้เต็มร้อย ยิ่งสู้กับอำนาจมหึมา อาจต่อรองได้แค่ 30-40 แต่ถ้าคิดว่าสู้ไม่ได้ตั้งแต่แรก ยอมแลกเปลี่ยนดีกว่า ก็อาจต่อรองได้แค่ 5-10 หรือติดลบ เพราะกลายเป็นยอมจำนน

การต่อสู้ความคิดจึงดำเนินต่อไป แต่ไม่ใช่แค่คนตุลา หรือพูดได้ว่าคนตุลาไม่สำคัญแล้ว กำลังจะหมดอายุขัย แต่เป็นผู้ร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีกจากหนุนรัฐประหารมาถึงทำลายความหวังคนรุ่นใหม่

ธงชัย วินิจจะกูล เรียกร้องให้แยกคนจากเหตุการณ์ คนเปลี่ยนไป แต่คุณค่าความหมายของ 14 ตุลา 6 ตุลายังอยู่ สิ่งที่พวกเขาทำในวันนั้นยังมีคุณค่าเสมอ

เช่น วันที่ 6 ตุลา ธงชัยเล่าในมติชนทีวี “รำลึก 50 ปี 14 ตุลา” ว่าทหารตำรวจกำลังบุก ภูมิธรรม เวชยชัย บอกน้องไปก่อน พี่อยู่เอง

“วันนั้นเขาทำในสิ่งที่ผมลืมไม่ลง” แต่คนละเรื่องกับ การวิจารณ์กันวันนี้ และการวิจารณ์กันวันนี้ก็ไม่ได้ลดคุณค่า ในวันนั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน