คณะนักวิจัยจากศูนย์ศึกษาความรู้ความเข้าใจในทารก มหาวิทยาลัยปุมเป ฟาบรา ประเทศสเปน พร้อมด้วยคณะนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสศึกษาว่าทารกที่ยังไม่ได้เรียนรู้การสื่อสาร โดยเฉพาะการพูดคุยตอบโต้ สามารถเข้าใจการมีเหตุผลเชิงตรรกะหรือไม่ ซึ่งงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการใช้เหตุผลเชิงตรรกะตามธรรมชาติสามารถเกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอายุเพียง 19 เดือนเท่านั้น ที่สำคัญคือไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้ด้านภาษาของทารกด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือหากเด็กทารกในช่วงอายุ 1-2 ขวบต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่ไม่รู้จัก เด็กๆ จะพยายามวิเคราะห์และหาข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยตัดตัวเลือกที่เป็นไปไม่ได้ออกตามระดับความรู้ในขณะนั้น

ผู้เชี่ยวชาญทำการทดลองที่แตกต่างกัน 3 ครั้ง โดยมีกลุ่มผู้ร่วมวิจัยเป็นเด็กอายุ 19 เดือน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 61 คน เป็นเด็กที่มาจากครอบครัว ภาษาเดียว 26 คน กับเด็กจากครอบครัวที่ใช้สองภาษา 35 คน ส่วนกลุ่มที่สองเป็นเด็กอายุ 19 เดือนเช่นกัน จำนวน 33 คน เป็นเด็กที่มาจากครอบครัวภาษาเดียว 19 คน และสองภาษาอีก 14 คน การทดลองรอบแรกมีด้วยกัน 3 ครั้ง ผู้เข้าร่วมจะเห็นวัตถุ 2 ชิ้นที่เชื่อมโยงกับคำใดคำหนึ่งและเมื่อได้ยินคำศัพท์ เด็กๆ ต้องเชื่อมโยงวัตถุนั้นกับ หนึ่งในสองวัตถุที่ถูกกำหนดให้มีความสัมพันธ์กัน การทดสอบครั้งที่สองทารกได้เห็น วัตถุที่รู้จักและวัตถุที่ไม่รู้จัก เมื่อได้ยินคำที่ตรงกับวัตถุที่รู้จักเด็กๆ จะต้องระบุว่าคืออะไร การทดสอบครั้งที่ 3 เหมือนครั้งที่ 2 ยกเว้นว่าคำที่ได้ยินเป็นสิ่งไม่รู้จัก

ขณะที่การทดลองรอบสอง นักวิจัยใช้วัตถุ 2 ชิ้น เช่น ร่มและรูปปั้นเด็กผู้ชาย ซึ่งแต่ละชิ้นเกี่ยวข้องกับเสียง จากนั้นวัตถุทั้งสองชิ้นจะถูกคลุมไว้เพื่อไม่ให้ทารกมองเห็น โดยหนึ่งในนั้นจะถูกวางไว้ในแก้ว เมื่อถูกเปิดออกเด็กสามารถมองเห็นวัตถุได้เพียงหนึ่งในสองชิ้นเท่านั้นและต้องเดาว่าชิ้นใดอยู่ในแก้วด้วยการตัดตัวเลือกของอีกชิ้น

ผลปรากฏว่าเด็กๆ สามารถคิดอย่างมีตรรกะได้โดยไม่พบความแตกต่างที่เกี่ยวข้องระหว่างการให้เหตุผลเชิงตรรกะของเด็กที่พูดภาษาเดียวและสองภาษา ยืนยันได้ว่าความเข้าใจในกลไกเหตุผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้ทางภาษานั่นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน