พม. – เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคมชุมชนโค้งรถไฟยมราช เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมคณะผู้บริหาร พม. ลงพื้นที่พบปะ พูดคุย ให้กำลังใจ รวมถึงจัดกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและให้บริการครัวเรือนเปราะบางในชุมชนโค้งรถไฟยมราช

นายวราวุธกล่าวว่า พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในชุมชนได้เปิด “ศูนย์ช่วยเหลือสังคมชุมชนโค้งรถไฟยมราช” เพื่อเป็นศูนย์กลางการรับเรื่อง และบริการคนทุกช่วงวัยอย่างครอบคลุมในทุกมิติ การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงสภาพปัญหา

นายวราวุธกล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกหน่วยงาน พม. ร่วมเป็นผู้จัดการกรณีดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวขายพวงมาลัย จำนวน 12 ครอบครัวในชุมชนโค้งรถไฟยมราช ตลอดจนได้ประสานบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกมิติทางสังคม

“นโยบายพม.คือลดความเหลื่อมล้ำ หาและให้โอกาสประชาชนทุกคนให้อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเยาวชน สตรี คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว องค์ประกอบสำคัญคือความอบอุ่นของครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นเกราะป้องกันเยาวชนให้รอดพ้นภาวะที่ไม่อยากให้เกิด ที่ผ่านมาพม.ได้ทำงานช่วยเหลือชุมชนนี้และชุมชนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชุมชนโค้งรถไฟยมราชได้มาติดตามการแก้ปัญหาและพัฒนากลุ่มเปราะบางที่ดำเนินการมาแล้ว 1 ปี” นายวราวุธกล่าว

นายวราวุธกล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาใหญ่ที่พบคือเยาวชนที่ออกไปขายพวงมาลัยขายของบริเวณริมทางซึ่งเสี่ยงเกิดอันตราย ได้มีการแก้ปัญหาจัดสถานที่ใหม่ให้ขาย มีหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนมาร่วมแก้ปัญหาจนเกิดความยั่งยืน รวมถึงการสนับสนุนให้เด็กทุกคนได้เรียน ทั้งนี้จะนำเป็นชุมชนต้นแบบนำร่องขยายผลในการแก้ปัญหาชุมชนอื่นๆ ทั้งในกทม.ที่มีอีกหลายพื้นที่และต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม แต่ละพื้นที่มีบริบทข้อจำกัดของปัญหาที่แตกต่าง ไม่สามารถตัดเสื้อโหลใช้แก้ปัญหาได้ เป็นความละเอียดอ่อนที่ต้องศึกษา เข้าใจและอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งนี้การสร้างความเข็มแข็ง ความมั่นคงให้กับชุมชนเล็กๆ ที่กระจายทุกพื้นที่ในประเทศไทย เป็นแนวทางนำไปสู่การแก้ปัญหาสังคม ยาเสพติดได้ นอกจากนี้การทำงานของพม.ใน 5 กรม 2 รัฐวิสาหกิจ 1 องค์การมหาชน ต้องเป็นหนึ่งเดียว ไม่สามารถแยกกรมทำงาน ทุกหน่วยงานต้องร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม BKK Food Bank เขตห้วยขวาง ว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคนที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องการอาหาร ต้องการความช่วยเหลือต่างๆ ขณะเดียวกันมีคนที่อยากช่วยเหลือคนที่เปราะบาง จึงคิดโครงการ Food Bank หรือเป็นธนาคารอาหาร คนที่อยากบริจาคเอามาบริจาคที่ศูนย์ได้ และส่งต่อให้กับผู้ที่ขาดแคลน

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า โครงการนี้ไม่ใช้งบประมาณของหลวง แต่ขอความร่วมมือคนที่มีส่วนเกิน ต่อไปจะขยายไปถึงซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ อาหารที่ใกล้หมดอายุ ยังบริโภคได้ แต่ขายไม่ได้แล้ว แทนที่จะทิ้งเป็นอาหารเสียจะมาอยู่ที่ Food Bank และต่อไปร้านอาหารที่เข้าโครงการ Food Bank อาจมีป้ายขอบคุณที่เข้าร่วมโครงการ โดยโมเดลนี้จะขยายผลต่อไปทั่วทั้งกรุงเทพฯ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน