วันที่ 18 ต.ค. ที่รัฐสภา นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล ว่า ช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ตนพยายามละเว้นจะวิจารณ์นโยบายของพรรคคู่แข่ง แต่ในเมื่อรัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้จึงขอตั้งข้อสังเกต รู้สึกเสียดายเงิน 5.6 แสนล้านบาท หากนำมาแจกคนยากจนประมาณ 10 ล้านคน จำนวน 1 แสนล้านบาท ยังพอรับได้ แต่หากนำมาแจกให้พวกเศรษฐี ชนชั้นกลางด้วย ซึ่งใช้เงินไม่กี่วันก็หมด ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำโดยใช่เหตุ เรานำเงินจำนวนนี้ไปทำประโยชน์ให้กับประเทศได้อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราสามารถสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ด้วยเงินเพียง 4 แสนกว่าล้านบาท จะสามารถอยู่ได้เป็นสิบเป็นร้อยปี เทียบกับที่เอามาใช้หมดเปลืองในเวลาไม่กี่วัน ด้วยเหตุผลว่าได้หาเสียงไว้แล้ว

ตนเห็นด้วยกับนักวิชาการที่ออกมาคัดค้าน อีกทั้งเงินดิจิทัล ยังไม่มีรัฐบาลอื่นใดในโลกทำ จึงถูกจับตามองอย่างเป็นข้อกังขาว่าเหตุใดรัฐบาลมาแตะต้องเรื่องนี้ กฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ระบุไว้ชัดว่า การพิมพ์ธนบัตรและออกเงินตราเป็นหน้าที่ของ ธปท. จริงอยู่ที่กฎหมายอนุญาตว่าเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรมว.คลัง เชื่อว่าตำแหน่งดังกล่าวก็ใช่ว่ามีความรู้ ก็มาเซ็นอนุมัติ ต้องมีเหตุผล เพราะหากมีการพิมพ์ธนบัตรดิจิทัลปลอมใครจะติดตามรับผิดชอบ เพราะยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับผิดชอบเรื่องนี้ ทำไมถึงใช้ช่องว่างของกฎหมายให้ รมว.คลังมาดำเนินการได้

การชดเชยการขาดดุลก็ยังไม่ชัดเจน เท่าที่ฟังจาก รมช.คลังชี้แจงเห็นว่าจะนำมาจากงบประมาณที่รัฐเก็บได้สูงเกินเป้าหมาย แต่ความจริงเงินดังกล่าวถือเป็นเงินคงคลัง วิธีดังกล่าวจึงเป็นการเบียดบังเงินคงคลังโดยใช่เหตุ หากจะนำเงินของธนาคารออมสินมาใช้ เงินส่วนใหญ่เป็นของนักเรียนที่ส่งเสริมให้เด็กออมเงิน แปลว่ารัฐบาลนี้ทำตัวอย่างไม่ดีคือนำเงินมาแจกให้บริโภค และไม่เชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะมาจากงบปี 2567 เพราะต้องใช้เป็นรายจ่าย หากเอาเงินนอกงบประมาณมาใช้ผลาญเล่นจะเกิดผลกระทบกับระบบการเงิน จึงไม่อยากเชื่อว่าจะนำอนาคตมาเสี่ยงอย่างที่หลายคนเตือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน