ในฤดูฝนที่สดชื่นและงดงาม เด็กผู้หญิงสี่คนปั่นจักรยานตามกันมา ผ่านท้องทุ่งเขียวขจี สายหมอกปกคลุมยอดเขาที่อยู่ไกลออกไปเป็นฉากหลังของทุ่งนากว้างที่มีต้นตาลสูงชะลูดขึ้นไปในท้องฟ้ากว้างของบ้านห้วยไร่ ตำบลผาปัง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง

วันนี้เราจะผจญภัยไปกับเด็กๆ มุ่งไปยังต้นตาลที่เรียงรายบนคันนาอีกฟากหนึ่ง ของหมู่บ้าน เด็กหญิงจิ๊กซอว์ หรือ เจนจิรา ตาอ้ายเทือก บอกว่าจะพาเพื่อนๆ คือ เหมย หยก มาดา ไปนาของปู่

คุณปู่โพ ตาอ้ายเทือก พามีดทะมัดทะแมงรออยู่ใกล้ต้นตาล พอจอดจักรยานได้ก็มารุมดูปู่ฟันก้านตาลฉับๆ มีเด็กบางคนสังเกตว่าฝักมีดที่ปู่ร้อยเชือกคาดเอวเป็นฝักมีดที่ทำจากก้านตาลด้วย เหมือนปู่จะรู้ใจ หันมาถามว่าเด็กๆ รู้ไหมว่า ต้นตาลนี่บ้านเราเอาไปทำประโยชน์อะไรบ้าง ถามยังไม่ทันขาดคำ เสียงแจ๋วๆ ก็ช่วยกันตอบเซ็งแซ่ “ใบตาลเอามาสานก่องข้าว ลูกทำขนมตาล ก้านตาลทำฝักมีด ไม้ตาลก็น่าจะขายได้นะปู่ ฯลฯ”

มีเสียงเด็กบางคนเสริมด้วยว่าถ้าเกิดฝนตกแล้วไม่ได้เอาร่มมา เราให้ปู่ฟันใบตาลอันใหญ่ๆ เอาใบมันมากางแทนร่มได้ด้วย เพราะใบตาลหนา แข็งแรง คลุมตัวพวกเรามิด จะต้องระวังก็คือปลายใบแหลมคม มันจะจิ้มตากันได้ง่ายๆ ถ้าเผลอวิ่งเล่นด้วยกันเพลินไปหน่อย ทุกส่วนของต้นตาลใช้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด แต่ละชุมชนมีภูมิปัญญานำตาลโตนดไปใช้หลากหลาย เพราะประโยชน์มากหลายนี่เอง ต้นตาลโตนดซึ่งเติบโตได้ในดินทุกชนิด ทนแล้ง ทนน้ำท่วม อายุยืน จึงเติบโตและพบเห็นแทบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ที่บ้านห้วยไร่มีความพิเศษไม่เหมือนใคร คือสาวป้าน้าย่ายายแทบทุกคนสานก่องข้าวใบตาลกันชำนาญมาก แทบจะเรียกว่าอุตสาหกรรมครัวเรือนหรืองานช่างฝีมือที่มีเอกลักษณ์ของพื้นที่ก็ว่าได้เพราะมีชื่อเสียงโด่งดัง

ใบตาลจากหัวไร่ปลายนากลายเป็นภาชนะจากธรรมชาติที่สวยงามเรียบง่าย ภาชนะที่มีแทบทุกบ้านทุกครัวเรือน ก่องใบตาลมีหลายขนาด ใช้ประโยชน์นานาชนิด ช่วงไหนมีเทศกาลงานประเพณี โดยเฉพาะงานสลากภัต ในภาคเหนือจะเรียกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ตานก๋วยสลาก กิ๋นข้าวสลาก กิ๋นก๋วยสลาก ฯลฯ ประเพณีตานก๋วยสลากมีช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี ในช่วงเข้าพรรษา ก่องข้าวหรือกล่องข้าวใบตาลของบรรดาอุ้ยหม่อนย่ายายป้าน้าบ้านห้วยไร่มีคนจองคิวยาวเลย เพราะนิยมใช้เป็นภาชนะใส่ข้าวของไปวัดแล้วถวายวัดได้เลย เนื่องจากก่องข้าวใบตาลที่ผลิตกันราคาเป็นมิตร อันละ 15-50 บาท แล้วแต่ขนาดและลวดลาย นอกจากลายขัดรูปสี่เหลี่ยมธรรมดาซึ่งก็สวยงาม อยู่แล้ว หลายคนยังนิยมสั่งแบบกลมที่มีลวดลายซับซ้อนสวยงามพิเศษ อีกด้วย

จิ๊กซอว์บอกว่า “ช่วงนี้เขาจะตานก๋วยสลากแล้วค่ะ เขาก็ต้องมาซื้อมาจอง จะเป็นก่องใหญ่ก่องเล็กได้หมด ใบตาลอันเล็กก่องก็จะ อันเล็ก ถ้าใบตาลใบใหญ่ก่องข้าวก็จะอันใหญ่ค่ะ เราใส่ผลไม้ ใส่ข้าว ใส่ข้าวต้ม ใส่ขนม หนูจะใส่ข้าวใส่ของกินใส่อาหารค่ะ”

ก่องข้าวใบใหญ่ชนิดอุ้มในอ้อมแขนใช้ใส่ข้าวเหนียวนึ่งไว้กินในครอบครัว บางทีถ้าไปทำนากันหลายคนเอาแรงเอามื้อก็ใส่ก่องข้าวใหญ่ไปกินกลางวันในไร่ในนา เด็กนักเรียนใช้ก่องข้าวขนาดเล็กมีสายสะพายได้หิ้วได้ ใส่ข้าวเหนียวไปโรงเรียน เด็กๆ เล่าให้ฟังว่า “หิ้วก่องข้าวใบตาลไป เบาดี สะดวก โรงเรียนชอบทำไก่ทอด หนูก็จะห่อข้าวเหนียวไป ถ้ากินไม่หมด ไก่เหลือก็ใส่ก่องไว้ พอตกเย็นหิวก็เปิดก่องข้าวออกมากิน”

พวกเราทีมงานทุ่งแสงตะวันไปสังเกตการณ์ทั้งที่โรงเรียนและที่วัด โดยเฉพาะที่วัด แม่เฒ่าพ่อแก่สวดมนต์เสร็จก็ประคองก่องข้าวจรดหน้าผาก แล้วค่อยๆ เดินไปที่บาตรที่ตั้งอยู่เรียงราย เปิดฝาก่องข้าวใบตาลปั้นข้าวเหนียวใส่ลงในบาตรพระ เป็นภาพที่งดงามและรู้สึกอบอุ่นใจ เพราะก่องข้าวใบตาลเป็นเหมือนสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับท้องทุ่งท้องนาและต้นตาล รวมทั้งก่องข้าวใบตาลเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เฒ่ากับเด็กน้อยสานสัมพันธ์ผ่านการสาน ก่องข้าว เด็กๆ ได้เรียนรู้ ส่วนผู้สูงวัยก็เบิกบาน แข็งแรง มีชีวิตชีวาอายุยืนยาว

ขอบคุณเด็กๆ และชาวบ้านบ้านห้วยไร่ บ้านผาปัง โรงเรียน ผาปังวิทยา และวัดห้วยไร่ ต.ผาปัง อ.แม่พริก จ.ลำปาง ที่ทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่น่าประทับใจ เรื่องก่องข้าวใบตาลที่แสนอบอุ่นนี้จะเผยแพร่ในรายการทุ่งแสงตะวัน ออกอากาศวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 เวลา 05.05 น. และเพจเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน / ยูทูบ PayaiTV

วสวัณณ์ รองเดช

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน