หนึ่งเดือนรัฐบาลเศรษฐา เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและดำเนินนโยบายฉับไวบางด้าน แม้บางเรื่องผลักภาระให้อนาคต เช่น ลดค่าไฟโดยให้ กฟผ.แบกหนี้ ลดดีเซลโดยลดภาษีสรรพสามิต หรือลดราคารถไฟฟ้า 20 บาทเฉพาะสายของรัฐ

ก็ไม่ว่ากัน อยากเห็นผลเร็วต้องทำอย่างนี้ ไปวัดกันที่การแก้ปัญหาระยะยาว เช่น จะลดค่า FT จริงๆ ได้อย่างไร ในเมื่อ กฟผ.ยังซื้อไฟฟ้าสำรองจากทุนใหญ่ไม่หยุดยั้ง

หนึ่งเดือนรัฐบาลเศรษฐา เทียบให้เห็นภาพต้องเทียบกับรัฐบาลประยุทธ์ เรื่องที่ได้คะแนนนิยมอย่างนี้ทำไมไม่ทำ เรื่องง่ายๆ อย่างฟรีวีซ่าจีน,คาซัคสถาน ไม่ยักมีหัวคิด

แต่ก็ต้องย้อนขำๆ ด้วยว่า รัฐบาลเศรษฐา พรรคเพื่อไทย ทำไมไม่อวดผลงานเปรียบเทียบว่า มีฝีมือเหนือกว่ารัฐบาลตู่ กลับไปโวยฝ่ายค้านโวยโลกออนไลน์ว่า ด้อยค่า

โดยเฉพาะด้านการทูต เศรษฐาน่าจะพูดให้เต็มปากว่า ตัวเองสง่างามกว่าประยุทธ์ ผู้มาจากรัฐประหารสืบทอดอำนาจ เดินสายไม่หยุด จากจับมือไบเดนที่ UN มาจับมือ สี จิ้นผิง ที่จีน

การทูตเซลส์แมน เจรจาการค้าการลงทุน ให้ความหวังเศรษฐกิจไทย ให้ภาพเชิงบวกได้ง่าย แต่ต้องเข้าใจว่า การทูตนั้นเต็มไปด้วยคำหวาน ไม่มีใครพูดด้านลบ จะมาลงทุนค้าขายจริงหรือไม่ พูดหวานไว้ก่อน ของจริงต้องรอดู

ในด้านกลับกัน ก็จับมือเพลินไปหน่อย เชิญปูตินมาเยือนไทย ไม่รู้หรือว่าปูตินโดน ICC ออกหมายจับฐานอาชญากรสงคราม

ระวังจะถูกวิจารณ์ว่า จุดยืนการต่างประเทศเอาปากท้องอย่างเดียว ไม่สนใจการเมืองเรื่องความชอบธรรม การใช้กำลังรุกรานประเทศอื่น ถ้ารัฐบาลหวัง “คืนศักดิ์ศรีประเทศไทยในเวทีโลก” ต้องมีท่าทีชัดเจนบางเรื่อง แม้ไม่ถึงกับเลือกข้าง

อย่างไรก็ตาม ในสายตาประชาชนทั่วไป ภาพรวมของรัฐบาล 1 เดือนน่าพอใจหลายด้าน แม้บางด้านเงียบฉี่ เช่นด้านการศึกษา ทั้ง ศธ. อว. มือใหม่จากพรรคภูมิใจไทย

รัฐมนตรีเพื่อไทยพูดติดปากเสียงเดียวกันว่า Quick Win มุ่งใช้ความเชี่ยวทางการเมือง การสื่อสาร รีบสร้างผลงานให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชน Move On จากการเป็นรัฐบาลข้ามขั้ว ตระบัดจุดยืน บนพื้นฐานที่ประชาชนทั่วไปหรือแม้แต่คนเลือกก้าวไกลเห็นว่า ยังไงก็ดีกว่าประยุทธ์

Quick Win มีเวลา 3-4 เดือน ต่อเนื่องด้วยแจกเงินหมื่นดิจิทัล หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ปิดปาก-ซื้อใจ ก่อนปัญหาต่างๆ จะผุด ทั้งปัญหาโครงสร้าง ปัญหานักการเมืองในรัฐบาลผสม ซึ่งอาจมีเรื่องฉาวโฉ่ทุจริตคอร์รัปชั่น

ปัญหาของ Quick Win คือส่วนใหญ่เป็นมาตรการเฉพาะหน้า ต้องกู้เงินหรือติดหนี้เพื่อสร้างความพึงพอใจ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย โดยหวังว่าจะบริหารเศรษฐกิจให้โตได้ เช่นถ้าจีดีพีโตปีละ 5% ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าโตไม่ถึง ก็จะทับถมพอกพูน

จุดชี้ขาดคือเงินหมื่นดิจิทัล นโยบายเรือธง ซึ่งป่านฉะนี้ยังตอบไม่ได้ 2 ประเด็นสำคัญ หนึ่ง เอาเงิน 5.7 ล้านมาจากไหน สอง ใช้แอพฯ อะไร

เพราะตอนหาเสียง เพื่อไทยประกาศว่าจะสร้างระบบการชำระเงินใหม่ โดยใช้บล็อกเชน แต่พอถูกค้านว่าเป็นไปไม่ได้ ก็รวนเรและยังไม่มีคำตอบ กระทั่งเกิด “เฟกนิวส์” ว่าจะใช้เงินถึง 12,000 ล้านทำซูเปอร์แอพฯ แม้ไม่น่าเชื่อ รัฐบาลก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะใช้แอพฯ อะไร

ระยะทาง 4 กิโลฯ ตอนแรกยืนยันคอขาดบาดตาย แต่ต่อมาเปลี่ยนใจใช้ตามรหัสไปรษณีย์ เป็นเรื่องดี แต่ทำให้ยิ่งไม่เชื่อมั่น ทำไมเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

การอ้างเสียงข้างมาก ใครๆ ก็อยากได้เงิน มาปิดปากการโต้แย้งวิเคราะห์ผลดีผลเสีย ไม่ใช่วิถีประชาธิปไตย

Quick Win เดือนแรกของรัฐบาลสอบผ่าน แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันผลสอบกลางปีหรือปลายปี เพราะปัญหาที่แท้จริงยังไม่ปรากฏ ภาพลักษณ์ช่วงแรกยังดูดีด้วยตัวเศรษฐา ขณะที่รัฐมนตรีเกินครึ่งไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง

รัฐบาลยังไม่สามารถสั่งการทหารตำรวจได้เต็มที่ ยกตัวอย่างเรือดำน้ำจีนไม่มีเครื่องยนต์ ไม่ทราบเกรงใจทหารหรือเกรงใจจีน ป่านนี้ก็ยังไม่สามารถตัดสินใจ ม็อบสมัชชาคนจนนึกว่ามาเรียกร้องกับรัฐบาลประชาธิปไตย ที่ไหนได้ เจอ คฝ.เหมือนประยุทธ์ยังอยู่

ปัญหาของรัฐบาลเพื่อไทยคือ ไม่ใช่ถูกเปรียบเทียบกับรัฐบาลประยุทธ์ แต่ถูกเปรียบเทียบกับรัฐบาล 8 พรรคที่ ไม่ได้เกิดขึ้น แม้บางคนมองว่า พิธา ก้าวไกล ไม่มีความเชี่ยวชาญบริหารเศรษฐกิจเท่าเพื่อไทย แต่ในแง่ความเข้มแข็งทางการเมือง ซึ่งรวมความเข้มแข็งทั้งก้าวไกลเพื่อไทย 26 ล้านเสียง รัฐบาลน่าจะมีอำนาจต่อรองมากกว่านี้ในทุกเรื่อง รวมถึงแก้ไขรัฐธรรมนูญและนิรโทษผู้ต้องขังทางการเมือง

วันนี้รัฐบาลยังได้โอกาส แต่ระวังวันไหนหยุดชะงัก เกิดรูรั่ว ทุกอย่างจะทะลัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน