สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จัดทำหนังสือ “คู่มือการจัดกิจกรรมทางกายและการเรียนรู้ด้วยตาราง 9 ช่อง” ในรูปแบบอีบุ๊ก (e-book) จัดทำขึ้นโดย ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู รวมถึงประชาชนทั่วไปที่รักและใส่ใจสุขภาพ นำไปปฏิบัติในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมทางกาย พร้อมพัฒนาส่งเสริมการเรียนรู้

ศ.ดร.เจริญกล่าวว่า “คู่มือการจัดกิจกรรมทางกายและการเรียนรู้ด้วยตาราง 9 ช่อง” เกิดจากแรงบันดาลใจที่ทั่วโลกและประเทศไทยต้องเผชิญปัญหา การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเด็กเล็กและเด็กในวัยเรียน ที่ไม่สามารถไปโรงเรียนเพื่อศึกษาเรียนรู้ ได้ตามปกติ ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องเพิ่มบทบาทการทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน คู่มือนี้ จะเป็นแนวทางให้นำไปปรับใช้ในการจัดกิจกรรมทางกาย รวมถึงช่วยกระตุ้นและพัฒนาส่งเสริมด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม ความคิด จินตนาการที่สร้างสรรค์ให้เด็ก เกิดการเรียนรู้อย่างมีเหตุผล นำมาประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละวัย เพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการ

“คู่มือการจัดกิจกรรมทางกายและการเรียนรู้ด้วยตาราง 9 ช่อง” ประกอบด้วยเนื้อหาสำคัญ 7 บท อาทิ บทที่ 1 กิจกรรมทางกายและสุขภาพเด็ก นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความสำคัญของกิจกรรมทางกาย หากประกอบกิจกรรมทางกายได้ถูกต้อง และเหมาะสมกับสภาพร่างกายในแต่ละช่วงวัย จะช่วยให้ร่างกายเกิดการพัฒนาที่ดี ชะลอการเสื่อมสภาพของระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ โดยการประกอบกิจกรรมทางกายในประเภทการออกกำลังกาย ควรฝึกปฏิบัติ 3 – 5 วันต่อสัปดาห์ อย่างน้อย 20-60 นาทีต่อวัน

บทที่ 2 ปรัชญาหรือความหมายของคำว่า KIDS ตัวอักษร K ใช้สื่อความหมายถึง การส่งเสริมให้เด็กเคลื่อนไหว (Keep Them Moving) ตัวอักษร I ใช้สื่อความหมายถึงจินตนาการ (Imagination) ตัวอักษร D ใช้สื่อความหมายถึงความหลากหลาย (Diversity) และตัวอักษร S ใช้สื่อความหมายถึงรูปแบบ (Style) การแยกตัวอักษรดังกล่าวเป็นการสื่อสารเพื่อส่งเสริมให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมทางกายที่หลากหลาย สร้างเสริมการพัฒนาทักษะกระบวนการในหลากหลายด้านให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีเหตุผล

บทที่ 3 ตาราง 9 ช่องกับการพัฒนาทักษะการคิดและการเรียนรู้ เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนต่อเนื่อง ผ่านประสบการณ์การกระทำหรือความเป็นจริง ดังนั้นการนำตาราง 9 ช่องเข้ามาใช้ ซึ่งเปรียบเหมือน เครื่องมือ “สนามแห่งความคิด” จะช่วยกระตุ้นและพัฒนาการเรียนรู้ รวมถึงท้าทายความคิด จินตนาการ และการเคลื่อนไหว โดยครูผู้สอน พ่อแม่ หรือผู้ปกครองสามารถคิดและสร้างสรรค์รูปแบบวิธีการสอนใส่ในตาราง 9 ช่อง ซึ่งแต่ละช่องจะช่วยให้เด็กคลื่อนไหวและเกิดการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊ก Thaihealth.active

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน