ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติเห็นชอบการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2566/67 ทั่วประเทศ จำนวน 10.66 ล้านไร่ ประกอบด้วยการเพาะปลูกในเขตชลประทาน จำนวน 6.37 ล้านไร่ ได้แก่การทำนารอบที่ 2 (นาปรัง) จำนวน 5.8 ล้านไร่ และ พืช ผัก จำนวน 0.57 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 4.29 ล้านไร่ แบ่งเป็นนาปรัง จำนวน 2.33 ล้านไร่ พืช ผัก จำนวน 1.96 ล้านไร่

“กรมชลฯ มีแผนที่ผังน้ำที่ลงลึกถึงระดับตำบล อำเภอ ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างใกล้ชิด จึงมีการประเมินสถานการณ์ปี 2566 ไปจนถึงปีหน้า ผลกระทบภัยแล้งไม่รุนแรงเหมือนต่างประเทศ เพราะมีฝนตกลงมา จึงเตรียมประกาศว่าการทำนาปรัง จากเดิมที่ขอความร่วมมือไม่ให้ทำนาปรังเพราะปริมาณน้ำจำกัด และล่าสุด กนช. เห็นชอบการจัดสรรน้ำเพื่อทำการเกษตรจำนวน 10.66 ล้านไร่ จากกลางปีสามารถจัดสรรน้ำเพื่อทำเกษตรเพียง 2.21 ล้านไร่ สูงกว่าประมาณการเดิม 8.45 ล้านไร่”

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ล่าสุด กนช. ได้ปรับประมาณการน้ำใช้การได้ทั่วประเทศ 1 พ.ย. 2566 (ข้อมูล ณ 16 ต.ค.2566) อ่างขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การได้ 33,652 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 71% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้อยกว่าปีก่อน 2,201 ล้านลบ.ม. โดยภาคเหนือมีปริมาณน้ำใช้การได้ 11,273 ล้านลบ.ม. หรือ 62% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้อยกว่าปีก่อน 2,815 ล้านลบ.ม. ภาคกลางมีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,033 ล้านลบ.ม. หรือ 85% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้อยกว่าปีก่อน 597 ล้านลบ.ม.

ภาคอีสานมีปริมาณน้ำใช้การได้ 6,236 ล้านลบ.ม. หรือ 93% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้อยกว่าปีก่อน 358 ล้านลบ.ม. ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,083 ล้านลบ.ม.หรือ 86% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้อยกว่าปีก่อน 306 ล้านลบ.ม. ภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำใช้การได้ 10,555 ล้านลบ.ม. หรือ 84% ของความจุอ่างฯ ปริมาณมากกว่าปีก่อน 880 ล้านลบ.ม. และภาคใต้มีปริมาณน้ำใช้การได้ 3,486 ล้านลบ.ม.หรือ 64% ของความจุอ่างฯ ปริมาณมากกว่าปีก่อน 597 ล้านลบ.ม.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน