สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดพิธีมอบเงินสนับสนุนการทำโครงงานให้นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะด้านสะเต็มและโค้ดดิ้งแก่เยาวชนในชนบท เพื่อก้าวสู่ยุวเกษตรกรอัจฉริยะในอุตสาหกรรมเกษตรแม่นยำ

โดยมีโรงเรียนเป้าหมายภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิ ที่ผ่านการคัดเลือกข้อเสนอโครงงานด้านเกษตรอัตโนมัติเกษตรแม่นยำ จำนวน 46 โครงงาน จาก 31 โรงเรียน รวมจำนวนทั้งสิ้น 114 คน เข้าร่วมอบรมหลักสูตร “การทำโครงงานเกษตรอัจฉริยะ (AI Coding for Smart Agriculture)” ระหว่างวันที่ 25-27 ก.ย. ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนที่ผ่านการพิจารณารับทุนสนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านสะเต็มและโค้ดดิ้ง ซึ่งจะเป็นกำลังใจและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ทั้งโรงเรียนสอนนักเรียนพิการ กลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม กลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม รวมถึงโรงเรียนในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท (ทสรช.) ภายใต้มูลนิธิฯ นำทุนพัฒนาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนของตนเองและเพื่อนๆ ร่วมสถานศึกษามากที่สุด โครงงานที่ได้รับทุนสนับสนุนมีทั้งสิ้น 46 โครงงาน จากโรงเรียน 31 แห่ง แต่ละโครงงานจะได้รับทุนสนับสนุนไม่เกิน 5,000 บาท รวมทั้งสิ้น 226,491 บาท

ทั้งนี้ ตลอดการอบรมเชิงปฏิบัติการทั้ง 3 วัน นักเรียนที่เข้าร่วมอบรมได้ทดลองลงมือปฏิบัติจริงด้านการพัฒนาโครงงานแบบกลุ่ม อีกทั้งได้รับองค์ความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ อาทิ การโค้ดควบคุมไมโครคอนโทรลเลอร์ และหลักการควบคุมอัตโนมัติทั้งแบบอนาล็อกและดิจิทัล การพัฒนาโครงงานด้วยโค้ดดิ้งเพื่องานการเกษตรอัจฉริยะ โดย รศ.ยืน ภู่วรวรรณ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การประยุกต์เอไอโมเดลกับงานการสร้างนวัตกรรม โครงงานเกษตรอัจฉริยะที่สร้างสรรค์และประยุกต์ต้นแบบ โดย รศ.พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า ภาควิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น

โดยมี น.ส.เยาวลักษณ์ คนคล่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานประสานงานโครงการตามพระราชดำริฯ นายนพดร ปัญญาจงถาวร รองผู้อำนวยการงานส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพ ชั้นสูง สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต สวทช. นายนริชพันธ์ เป็นผลดี ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมกิจกรรม

สวทช.คาดหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนจัดทำโครงงานหรือนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมให้เกิดทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาเป็น และเรียนรู้การทำงานกับผู้อื่นผ่านกระบวนการทำโครงงาน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน