ปฏิเสธไม่ได้ว่า กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร เป็นหน่วยงานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งไม่ใช่แค่พรรคก้าวไกลที่เสนอกฎหมาย ให้ยุบ แม้แต่ในพรรคเพื่อไทยก็มีเสียงสนับสนุน ล่าสุดคือ นายอดิศร เพียงเกษ ประธานวิปรัฐบาล
ก่อนที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะประกาศไม่ยุบ ไม่เคยคิด และไม่มีนโยบาย เรื่องนี้
ท่าทีแข็งกร้าวของนายกฯสะท้อนอะไร และหากไม่ยุบ รัฐบาลควรวางบทบาทของ กอ.รมน. อย่างไร

ไชยวัฒน์ ค้ำชู
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

การที่นายเศรษฐา ประกาศไม่ยุบ กอ.รมน.คงไม่อยากหักด้ามพร้าด้วยเข่า ไม่อยากให้เกิดความรู้สึกแตกหักเพราะยังต้องทำงานอยู่กับฝ่ายความมั่นคง ถ้ายุบเลยคงทำงานด้วยกันลำบาก อาจเกิดปฏิกิริยาจากผลกระทบของ การยุบหน่วยงานนี้

คงใช้วิธีปรับภารกิจให้เหมาะสม ค่อยๆ ปฏิรูป ไม่ใช้วิธีการแบบตัดสินทันทีและ ยุบเลย ตามสไตล์นายกฯที่อยากได้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในช่วงรับหน้าที่ใหม่ๆ แต่เป้าหมายคงมีอยู่ในใจ เพราะในที่สุด คงอยากเห็น กอ.รมน.ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มีการแก้ไข

ตอนนี้รัฐบาลคงมุ่งเน้นแก้ปัญหาเรื่อง ปากท้องให้ประชาชนก่อนเพราะเป็นปัญหา ที่ประชาชนสนใจมากที่สุด ส่วนเรื่องกอ.รมน.คงไม่ปรับแบบฮวบฮาบ สอดคล้องกับการปฏิรูปกองทัพที่ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เพราะในทางปฏิบัติจะยาก ต้องค่อยๆ แก้เพราะฝังรากมานาน

ต้องแก้แบบให้ทุกฝ่ายยังร่วมทำงานกันได้ เน้นการแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่โดนวิพากษ์วิจารณ์ เพราะถ้าทำแบบเดิมๆ รัฐบาลเองที่จะเป็นฝ่ายโดนวิจารณ์ จึงต้องค่อยๆ ตะล่อมให้อยู่ในร่องในรอย ถูกต้องเหมาะสมกับยุคประชาธิปไตยที่ฝ่ายความมั่นคงจะไม่เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง

ที่ผ่านมา กอ.รมน.ถูกวิจารณ์ว่าเป็นหน่วยงานที่มีปัญหามากในแง่ของการพัฒนาประชาธิปไตย รัฐบาลของพรรค เพื่อไทยคงตระหนักดี แต่ให้แก้โดยทันควันทันทีคงไม่พร้อม และคิดว่าเพื่อไทยก็อยากปรับปรุงแก้ไขด้วย เพราะสุดท้ายประชาชนจะเข้ามาประเมินผลงานของรัฐบาล ที่สำคัญฝ่ายค้านยุคนี้มีความเข้มแข็ง

ส่วนตัวมองว่าการยุบหรือไม่ยุบ กอ.รมน.ต้องย้อนไปดูเหตุผลการจัดตั้ง กอ.รมน.เพื่อวัตถุประสงค์ใด มีความจำเป็นขนาดไหน และต้องมีความโปร่งใสในการถกเถียงระหว่างฝั่งที่ต้องการให้ยุบ และฝั่งที่ไม่อยากให้ยุบ








Advertisement

สื่อมวลชนก็ต้องให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง กับประชาชนให้มาก เพื่อให้เห็นว่าควรยุบ หรือไม่ยุบ เพราะสุดท้ายแล้วรัฐบาลเองก็ต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชน

ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กอ.รมน.เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายมีอำนาจ รัฐบาลก็ควรพิจารณาทำให้ กอ.รมน.ไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดอีก ให้มีภารกิจความมั่นคงของประเทศโดยรวม ไม่เกี่ยวข้องกับการสกัดกั้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

เพื่อให้คำวิจารณ์ที่มีมานานได้รับการแก้ไข เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีปัญหาความขัดแย้งฝ่ายอำนาจเดิมจะใช้ กอ.รมน.เป็นเครื่องมือ คิดว่ารัฐบาลชุดนี้คงไม่ทำเช่นนั้น หากทำเหมือน ฝ่ายอำนาจเดิมจะโดนวิพากษ์วิจารณ์จากฝั่งประชาธิปไตย

กอ.รมน.เอง หากเห็นว่ามีส่วนที่ต้องแก้ไขปรับปรุงก็ควรทำ หากปรารถนาดีกับชาติต้อง ไม่บิดเบือนภารกิจที่แท้จริงของความมั่นคงภายใน การทำงานต้องโปร่งใส ไม่ทับซ้อน หน่วยความมั่นคงอื่น

งบที่ใช้ไปต้องคุ้มค่ากับผลที่ได้ ไม่ใช้เงิน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจดั้งเดิมของกอ.รมน. ที่สำคัญตัดงบที่ไม่จำเป็นเพื่อให้รัฐบาลนำไปพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ส่วนบุคลากรหรือนายทหารบางคนที่ไม่จำเป็นต่อกอ.รมน.ยังมีอยู่ จึงควร นำผู้มีความรู้มาบริหารจัดการจริงๆ

คิดว่ารัฐบาลคงไม่ได้เฉยเมยต่อเรื่องนี้ แต่กำลังดำเนินการอย่างละมุนละม่อม

สุรชาติ บำรุงสุข
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของ กอ.รมน.เท่านั้น และไม่ใช่ปัญหาเฉพาะส่วน แต่ เป็นปัญหาระบบงานด้านความมั่นคงของประเทศ ถ้ามองในภาพรวมใหญ่ๆ เป็นปัญหามาตั้งแต่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งก็เป็นองค์กรที่มีปัญหาและต้องการการปฏิรูป

จึงเชื่อว่าการจะยุบหรือไม่ยุบ กอ.รมน.ไม่ใช่คำตอบใหญ่ เพราะต้องคิดว่าภายในโครงสร้างงานความมั่นคงของประเทศนั้น ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาใหม่นั้นเราจะจัดการส่วนงานกันอย่างไร และจะบริหารความสัมพันธ์กันอย่างไร

ส่วนที่นายกฯออกมาประกาศว่าไม่ยุบกอ.รมน. ก็เป็นการประกาศของนายกฯ และไม่ยุบก็คือไม่ยุบ เรื่องมีเพียงเท่านั้นไม่มีคำอธิบายอะไรได้อีก

แต่ถึงอย่างไร บทบาทของ กอ.รมน.คงต้องมีการปฏิรูป อย่างที่เคยเสนอมาตลอดว่าต้องปฏิรูป กอ.รมน.และลดสิ่งที่สังคมกังวลกันอยู่ คือเรื่องงานที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และต้องปรับลดจำนวนคน และงบประมาณ

เพราะเชื่อว่าการสั่งยุบ กอ.รมน.อาจไม่ใช่คำตอบที่เป็นจริงในสังคมปัจจุบันนี้ เนื่องจากการจะยุบหน่วยงานราชการนั้นตามเงื่อนไขต้องมีเรื่องของกฎหมาย และบุคลากรในหน่วยงานนั้นๆ ด้วย และ กอ.รมน.ก็ไม่ใช่ส่วนงานขนาดเล็ก แน่นอนว่าต้องมีหลายเงื่อนไขมาเกี่ยวข้อง

ส่วนเสียงวิจารณ์รัฐบาลไม่ยุบ กอ.รมน.เป็นการประนีประนอมให้กองทัพนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลและกองทัพต้องนำไปปรับเปลี่ยนกันใหม่ เพราะทุกวันนี้จะให้ กอ.รมน.อยู่โดยไม่ทำอะไรคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเสียงเรียกร้องจากประชาชนมีเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น กอ.รมน.จึงต้องปรับและทำอะไรบ้าง

ส่วนที่นายกฯประกาศไม่ยุบ กอ.รมน. จนถูกมองว่านโยบายปฏิรูปกองทัพก็คงไม่เกิดขึ้นนั้น เข้าใจว่ารัฐบาลเองก็พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่กลัวว่าจะกลายเป็นความขัดแย้งมากกว่า แต่ขณะเดียวกันการหลีกเลี่ยงแล้วไม่ทำอะไรก็จะค้านต่อเสียงเรียกร้องของสังคม

ดังนั้น จึงควรปฏิรูป กอ.รมน.ทั้งการปรับบทบาทและงานที่ กอ.รมน.ทำอยู่ และควรมีการทบทวนหน่วยงานนี้ เพราะอย่างที่บอกการที่จะ ยุบหน่วยงานหนึ่งๆ นั่นจะมีเงื่อนไขทางกฎหมายหลายอย่าง ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะยุบแล้วยุบได้เลยทันที

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล
สมาชิกวุฒิสภา
อดีตอาจารย์สถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่

เราควรเปลี่ยนจากข้อ ถกเถียงจากควรยุบกอ.รมน. หรือไม่ยุบ มาสู่ประเด็น การมองปัญหาในการมีอยู่ของกอ.รมน. ดูที่บทบาทและผลงานว่ามีอะไรเป็น ที่ประจักษ์ ทั้งการสร้างความมั่นคงภายใน โดยเฉพาะเรื่องภาคใต้

เป็นการมองความ เป็นเหตุเป็นผลทางเศรษฐศาสตร์ ในแง่การจัดการเรื่องความคุ้มทุน เปรียบเทียบการใช้งบประมาณกับผลงาน ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า ประชาชนจะให้คำตอบได้เอง สาธารณชนจะ มองเห็นเองว่าองค์กรนี้ควรมีอยู่หรือไม่ควรมีอยู่

ถ้าเริ่มด้วยการถามว่ายุบหรือไม่ยุบ อีกฝ่ายบอกว่ายุบ อีกฝ่ายบอกว่าไม่ยุบ ทำให้เป็นเรื่องของอารมณ์ ความต้องการเอาชนะ ดังนั้น ก่อนตอบว่ายุบหรือไม่ยุบต้องตอบให้ได้ว่า กอ.รมน.ทำงานให้ได้ตามที่รัฐบาลต้องการหรือเปล่า

จึงต้องดูที่ผลงานว่ามีอะไรบ้าง โดยนำข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่หนุนให้มีกอ.รมน. กับฝ่ายที่เห็นว่าควรยุบ กางข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่ายให้ประชาชน ได้รับทราบมากที่สุด

ซึ่งประชาชนในฐานะคนเสียภาษีมีสิทธิรับทราบข้อมูลพวกนี้ เพื่อแสดงท่าทีให้ฝ่ายการเมืองตัดสินใจ หรือพรรคที่เสนอเรื่องผลักดันต่อ ซึ่งเป็นหลักของสังคมประชาธิปไตย

เสียงวิจารณ์กอ.รมน.เป็นเครื่องมือของรัฐบาลนั้นไม่แปลก เพราะกอ.รมน.คือกลไกรัฐ ไม่ว่า ฝ่ายไหนมาเป็นรัฐบาลก็ต้องใช้กลไกรัฐผลักดันประเด็นที่อยากให้เกิด สิ่งสำคัญคือต้องดูในแง่ การคุ้มทุนอย่างที่บอก เปรียบเทียบบทบาทของกอ.รมน. ในแง่งบประมาณที่ใช้ไปกับผลงาน

หากถามว่าการที่นายกฯ ประกาศไม่ยุบกอ.รมน. สามารถมองได้ว่าต้องการประนีประนอม เกี้ยเซี้ยะ แต่ท้ายที่สุดจุดหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ องค์กรได้ ผลักดันเชิงนโยบายได้ผลอย่างไร

ส่วนถ้ารัฐบาลไม่ยุบกอ.รมน. อาจถูกครหา ไม่ทำตามที่หาเสียงเรื่องปฏิรูปกองทัพ ก็เป็นเหตุ เป็นผล ที่ผู้คนจะตั้งข้อสังเกตได้ เพราะตอนหาเสียงสัญญาไว้ ไม่ใช่หาเสียงแล้วก็จบไป เพื่อไทยเป็นพรรคที่เคยทำให้เห็นว่านโยบายที่หาเสียง เมื่อมาเป็นรัฐบาลแล้วสามารถจับต้องได้ในสมัยเป็นพรรคไทยรักไทย จึงเป็นความคาดหวังของประชาชน

ส่วนถ้าไม่ยุบกอ.รมน.แล้วควรปฏิรูป กอ.รมน.หรือไม่นั้น การปฏิรูปและวางบทบาทของ กอ.รมน.เป็นเรื่องที่คนรับผิดชอบต้องไปดีไซน์

เชื่อว่าเมื่อร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาจะเป็นประเด็นร้อนแน่นอน เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน