นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับยกขนตู้สินค้าในท่าเรือ (อาร์ทีจี) จากพลังงานดีเซลเป็นพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ระหว่างบริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด และบริษัท แซด พี เอ็ม ซี โคเรีย จำกัด พร้อมติดตามความคืบหน้าของท่าเรือแหลมฉบัง ว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนประเทศ สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2573 ที่จะส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่และ ใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการขนส่งของประเทศได้ตอบรับนโยบายดังกล่าว ด้วยการสนับสนุนและให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ ภาคเอกชนที่อยู่ในกำกับดูแล ดำเนินธุรกิจด้วยการนำนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในท่าเรือ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน การที่บริษัทแอลซีเอ็มที ผู้ประกอบการภาคเอกชน ซึ่งได้รับสัมปทานจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในการประกอบธุรกิจท่าเทียบเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ได้ริเริ่มนำนวัตกรรมมาปรับเปลี่ยนเครื่องมือเครื่องจักรที่ให้บริการในท่าเรือให้มาใช้พลังงานสะอาดแทนที่พลังงานจากฟอสซิล เพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่อากาศ ถือเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินธุรกิจอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพร้อมสู่การเป็นท่าเรือสีเขียวในอนาคต

สำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรหลักในการให้บริการท่าเทียบเรือระหว่างประเทศในท่าเทียบเรือเอ 0 ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) โดยทั้ง 2 บริษัทที่ร่วมเอ็มโอยู มีมูลค่าการลงทุนกว่า 145 ล้านบาท เมื่อการปรับปรุงแล้วเสร็จจะสามารถลดปริมาณการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.5 ล้านกิโลซีโอทูต่อปี และจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้ตระหนักถึงความสำคัญในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน และการดำเนินธุรกิจขนส่งทางน้ำอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลไทย และตามเป้าหมายของยูเอ็นต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน