“ค่ายวิศวพัฒน์” นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเอาหลักวิศวกรรมศาสตร์มาใช้แก้ปัญหาชุมชนโดยมีแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

รศ.ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ค่ายวิศวพัฒน์เป็นค่ายอาสาแนวพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ จุดเริ่มต้นมาจากการไปร่วมดูงานของมูลนิธิรากแก้วที่เป็นความร่วมมือกับทางจุฬาฯ เมื่อปี 2560 ได้เห็นแนวคิดการพัฒนาชุมชนเพื่อแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืนโดยการใช้แนวทางการพัฒนาตามศาสตร์พระราชา บนหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” จึงเล็งเห็นว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เองควรทำค่ายอาสาในแนวนี้ เพราะจะส่งผลดีและเป็นประโยชน์กับชุมชนได้มาก ตลอดจนนิสิตเองก็จะได้เรียนรู้จนครบกระบวนการไปจนถึงผลลัพธ์จริงๆ หลังจากนั้นคณะ วิศวะ จึงริเริ่มจัดค่ายในปี 2561 พากลุ่มนิสิตทุนไปลงพื้นที่ดูงานเพื่อให้นิสิตสัมผัสชุมชนพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อรับฟังปัญหาและวิถีชีวิตชาวบ้าน และร่วมทำงานกับชาวบ้านตามวิถีปกติ เช่น ไปทำเกษตรกรรม เก็บข้าวโพด หยอดเมล็ดถั่ว ซึมซับวิถีชีวิตของชุมชน นั่นคงเป็นจุดเริ่มต้นครั้งแรกของค่ายวิศวพัฒน์

รศ.ดร.สรรเพชญ กล่าวต่อว่า ความแตกต่างของค่ายวิศวพัฒน์คือค่ายอาสานี้นิสิตได้ใช้หลักการทางวิศวกรรมศาสตร์แก้ปัญหาให้ชุมชน อย่างแท้จริง ตัวอย่างบางพื้นที่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำทำเกษตร หรือบางพื้นที่จำเป็นต้องเผาป่าเพื่อให้มีพื้นที่ทำเกษตร สิ่งนี้ส่งผลเสีย ต่อสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อนำหลักวิศวกรรม ศาสตร์มาใช้ เช่น การสร้างฝายเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทำให้ชุมชนแห่งนั้นมีน้ำใช้สำหรับการทำเกษตรได้ตลอดปี และเมื่อมีน้ำใช้ทำเกษตรแล้ว การเผาป่าจึงไม่จำเป็น นี่ถือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการนำหลักการทางวิศวกรรมมาใช้แก้ปัญหาพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง

ด้าน น.ส.ณัฎฐณิชา ชิตเจริญ ตัวแทนนิสิตหัวหน้าค่ายครั้งที่ 5 และ 6 กล่าวว่า “รู้สึกว่าสิ่งที่พวกเราลงมือลงแรงทำลงไป ไม่เสียเปล่า ผลลัพธ์ค่อยๆ งอกเงยมาตามกาลเวลา รู้สึกภูมิใจมากๆ และภูมิใจในตัว ทุกคนที่มีส่วนร่วมทำให้โครงการประสบความสำเร็จ และสามารถดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว สุดท้ายนี้เราเชื่อมั่นว่าสิ่งเล็กๆ ที่เราร่วมแรงร่วมใจกันในวันนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตอย่างแน่นอนค่ะ”

ปัจจุบันค่ายวิศวพัฒน์ดำเนินมาแล้ว 7 ครั้ง ช่วยชุมชนด้วยหลักวิศวกรรมศาสตร์หลายพื้นที่ ผลงานของค่ายวิศวพัฒน์ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของมูลนิธิรากแก้ว ปี 2566 จากการแข่งขัน 52 โครงการ 35 สถาบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน