เทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือมติชน ร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนา “ปูพรมผลไม้ไทย ไร้พรมแดน” เป็นแนวทางสำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจเกษตร ในการเตรียมพร้อมส่งออกผลไม้ไทยไปต่างประเทศ และลดผลกระทบต่อราคาขายของเกษตรกร

ได้รับเกียรติจาก นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน และบรรยายพิเศษหัวข้อ “ปูพรมผลไม้ไทย ไร้พรมแดน” พร้อมเชิญวิทยากรจากภาครัฐและเอกชน เกษตรกรและ ผู้ประกอบการ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในการขยายตลาดการค้าผลไม้ไทย

● ปูพรมผลไม้ไทย ไร้พรมแดน
นายวัฒนศักย์กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “ปูพรมผลไม้ไทย ไร้พรมแดน” ระบุ ไทยมีปริมาณผลิตผลไม้ปีละ 6.5 ล้านตัน ปี 2567 ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอีก 1% ปัจจุบันมีการบริโภคภายในประเทศน้อย ส่วนใหญ่ส่งออกไปต่างประเทศ โดย 60% ส่งออกเป็นผลไม้สด แปรรูปส่งออก 40%

ดังนั้น การปูพรมผลไม้ไทยเพื่อส่งออกไปทั่วโลกเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะการส่งออกในรูปผลไม้สดมีโอกาสสูญเสียเกิดขึ้นมาก ขณะที่เกษตรกรไทยปัจจุบันมีอายุสูง ทำให้มีข้อจำกัดในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมูลค่าสินค้า

กระทรวงพาณิชย์ โดยการนำของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ มอบนโยบายเร่งด่วนให้เร่งลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสให้คนตัวเล็ก สำหรับชาวสวนผลไม้เราจะต้องส่งเสริมให้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้แปรรูป และขยายตลาด ส่งออกผ่านการขายออนไลน์ให้มากขึ้น

“ตลาดส่งออกผลไม้ทั่วโลกยังเปิดกว้างมหาศาล แต่ของที่เราขายต้องคุณภาพดีด้วย ชาวสวนต้องนำเทคโนโลยีมาต่อยอด พัฒนา แปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ที่สำคัญต้องส่งเสริมให้ลูกหลานรักในอาชีพเกษตรของบรรพบุรุษ ปั้นเกษตรกรเจเนอเรชั่นใหม่ๆ เข้ามาช่วยกันพัฒนาสวนผลไม้”








Advertisement

● ปูพรมมาตรฐานการผลิตให้ปัง
สำหรับการเสวนาในหัวข้อ “ปูพรมมาตรฐานการผลิตให้ปัง” มีวิทยากร 3 คนมาร่วมแชร์ประสบการณ์คือ น.ส.เพ็ญระพี ทองอินทร์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและจัดการการผลิตไม้ผล ไม้ยืนต้น และยางพารา กรมส่งเสริมการเกษตร, น.ส.อรทัย เอื้อตระกูล อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการนำเข้าส่งออกสินค้าพืชและปัจจัยการผลิต กรมวิชาการเกษตร และนายสิฐิภูมิ์ ธนฤทธิพร คณะอนุกรรมการ การค้าชายแดนและข้ามแดนด้านจีนตอนใต้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

น.ส.เพ็ญระพีระบุว่า ไทยมีผลไม้ที่มีศักยภาพ 6-7 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลิ้นจี่ ลองกอง ลำไย และมะม่วง จากพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่โตโดดเด่นที่สุดคือ ทุเรียน โดยมีจีนเป็นตลาดนำเข้าสำคัญ ทุเรียนเป็นสินค้าไฮไลต์ทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท โจทย์ใหญ่วันนี้คือ ทำอย่างไรให้การส่งออก ผลไม้ไทยไร้พรมแดน ไม่ใช่ส่งออกไปแค่จีนตลาดเดียว ดังนั้น เกษตรกรต้องรักษามาตรฐานตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการจำหน่ายออกสู่ตลาดเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ผลผลิต

ขณะที่ น.ส.อรทัย แชร์ประสบการณ์ว่าผลไม้ยังเป็นแหล่งทำ รายได้สำคัญ ปีๆ หนึ่งส่งออกถึง 2 แสนล้านบาท รวม 2.7 ล้านตัน โดยทุเรียนครองแชมป์ส่งออกมากสุด 9.8 แสนตัน ทำรายได้ปีละกว่า 1.2 แสนล้านบาท

“ตลาดทุเรียนในจีนยังอยู่ในช่วงซันไรซ์ ความต้องการยังสูง แต่คนไทยกลับแอบตัดทุเรียนอ่อนไปขายให้จีน ทำให้ตลาดทุเรียนไทยเสียหายมากในจีน หากชาวสวนไทยไม่รักษาคุณภาพเราจะสูญเสียตลาดส่งออกให้ คู่แข่ง โดยเฉพาะมาเลเซียที่รัฐบาลเข้ามาช่วยส่งเสริมครบวงจร จนทำให้ทุเรียนมูซังคิงขายได้ถึงกิโลกรัมละ 2,400 บาท แพงกว่าหมอนทองไทย 3 เท่า”

ด้านนายสิฐิภูมิ์กล่าวว่า จีนเป็นตลาดอนาคตของผลไม้ไทย เพราะนำเข้าผลไม้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และคาดว่าจะ เป็นที่ 1 ในเร็วๆ นี้ 80% นำเข้าจากไทย มูลค่าปีละ 2 แสนล้านบาท

“ตลาดจีนยังสดใส เพราะระบบขนส่งสะดวกผ่านทางรถไฟ ทางบก ใช้เวลาแค่ 2 วัน หากจะขยายตลาดในจีนเกษตรกรไทย ต้องเน้น 4 ปัจจัยคือ 1.คุณภาพต้องดี 2.เป็นไปตามมาตรฐานผลผลิตของจีน 3.ปลอดภัยในการบริโภค และ 4.ปลอดจากศัตรูพืช และหากทำเป็นออร์แกนิกเพื่อไปขายในตลาดพรีเมียมได้ยิ่งดี”

● ผลิตผลไม้อย่างไรให้ติดลมบน
นอกจากนี้ ยังมีเสวนาหัวข้อ “ผลิตผลไม้อย่างไรให้ติดลมบน” โดยวิทยากร 3 คนคือ นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน ผู้ก่อตั้งบริษัท เอ็นซี โค่โค่นัท จำกัด จากเด็กส่งมะพร้าวสู่เถ้าแก่ร้อยล้าน สร้างแบรนด์มะพร้าวน้ำหอมส่งออก NC COCONUT จ.ราชบุรี นางเสาวณี วิเลปะนะ กรรมการผู้จัดการบริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด ผู้ส่งออกกล้วยหอมทองรายใหญ่เข้าเซเว่นอีเลฟเว่นวันละ 15 ตัน จ.ปทุมธานี และ น.ส.วราภรณ์ มงคลแพทย์ ผู้พลิกโฉมสวนมะม่วง 250 ไร่ ของพ่อ พัฒนาเป็นฟาร์มช็อปและฟาร์มทัวร์ชั้นนำของ จ.นครราชสีมา

นายณรงค์ศักดิ์เล่าว่า ปัจจุบันไม่ทำเพียงสวนมะพร้าวน้ำหอม แต่ต่อยอดทำครบวงจร ตั้งแต่ปลูก แปรรูปเป็นน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม ส่งออกไปต่างประเทศ สร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจากเปลือกมะพร้าว โดยยึดโมเดล BCG

“การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ชาวสวนต้องเป็นสมาร์ตฟาร์มเมอร์ ทำเกษตรแบบยั่งยืนในโมเดล BCG ดูแลสิ่งแวดล้อม นำงานวิจัยเข้ามาต่อยอดขบวนการผลิตและแปรรูป สร้างแบรนด์เป็นของตัวเองเพื่อให้สามารถปังธงสินค้าในต่างประเทศและสามารถโคแบรนด์กับสินค้าของตลาดในต่างประเทศได้”

นางเสาวณีกล่าวว่า ชาวสวนต้องต่อยอด ไม่ใช่การทำสวนอย่างเดียว ต้องยกระดับเป็นธุรกิจเกษตรแบบยั่งยืนด้วย เน้น 3 ด้านสำคัญ 1.ด้านเศรษฐกิจ ทำแล้วรวยต้องทำต่อ 2.สังคม ต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกร และ 3.สิ่งแวดล้อม ต้องเริ่มดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะในอนาคตสิ่งแวดล้อมจะช่วยธุรกิจได้

สำคัญที่สุดคือ นำนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าสินค้า ล่าสุดบริษัททำเนื้อเทียมจากเปลือกกล้วย หรือ Peel meat สำเร็จจนได้รับรางวัล เหรียญเงินจากงาน The 48th International Exhibition of Inventions Geneva ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ส่วนน.ส.วราภรณ์ กล่าวว่า แบรนด์บ้านหมากม่วงพัฒนาจากการทำสวนมะม่วงไปสู่ธุรกิจการเกษตร และต่อยอดไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยว สร้างมูลค่าเพิ่มให้สวนมะม่วงมหาศาล การสร้างแบรนด์ และ การทำการตลาด เป็นเคล็ดลับสำคัญของการเพิ่มรายได้

ที่ผ่านมาเราพยามโปรโมตให้สวนของเราเป็นจุดหมายปลายทางคนรักมะม่วง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์แก้ปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ เปิดร้านขายอาหารและเครื่องดื่มจากมะม่วง ผ่านโมเดลฟาร์มเมนู นำมะม่วงมาแปรรูปเป็นขนม เมนูฮิตที่สุดตอนนี้คือ มะม่วงย่างเนยหน้ากรอบ สูตรลับของครอบครัว รวมทั้งทำธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทัวร์เก็บเกี่ยวมะม่วงในสวนช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก นอกจากนี้ ยังขายคอร์สสอนบทเรียนเรื่องการเจริญเติบโตของมะม่วงให้กับโรงเรียนนานาชาติได้พาเด็กมาเสริมความรู้อีกด้วย

ทั้งหมดเป็นแนวทางให้ผู้ที่สนใจได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน