กทม. – เมื่อวันที่ 8 พ.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานจราจร ร่วมกันลงตรวจสภาพการจราจรในพื้นที่เขตสามเสน นางเลิ้ง ของกรุงเทพมหานคร ใน ถ.สามเสน, ถ.ราชดำเนิน, ถ.จรัญสนิทวงศ์, สะพานพระราม 8, สะพานกรุงธนบุรี เป็นหลัก โดยมี พล.ต.ท.นิธิธร จิตกานนท์ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. (อดีตผบก.จร.), พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รรท.รอง ผบช.น. ที่รับผิดชอบงานจราจร, พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่

โดยเริ่มจาก หน้าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ซึ่งเป็นโรงเรียนหลักบนถนนสามเสน ที่มีผู้ปกครองเดินทางมาส่งบุตรหลานเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลต่อสภาพการจราจรบนถนนสามเสน ต่อเนื่องแยกซังฮี้ ที่ข้ามมาจากฝั่งธนบุรีได้

จากนั้นได้ไปตรวจสภาพการจราจรบริเวณสะพานกรุงธนบุรี, แยกบางพลัด, ถ.จรัญสนิทวงศ์, ถ.ราชดำเนิน และแยก จปร. ตรวจเยี่ยมให้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่ มอบกาแฟกระป๋อง ไว้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ก็ได้รับรายงานถึงปัญหาการจราจรต่างๆ มาแล้ว วันนี้จึงตัดสินใจลงมาให้เห็นด้วยสายตาตัวเอง และต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้พี่น้องประชาชน พ่อแม่ ครู ผู้ปกครอง ผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ โดยได้หารือร่วมกับนายชัชชาติ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจร และการลดอุบัติเหตุ

แก้จราจร – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.นิธิธร จิตกานนท์ ผบช.ประจำสง.ผบ.ตร., พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รรท.รอง ผบช.น. ตรวจการจราจรพื้นที่สามเสน-นางเลิ้ง

ด้านนายชัชชาติกล่าวว่า วันนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างกทม. กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เรื่องการจราจร จากการตรวจสภาพการจราจรพบว่า ปัญหาการจราจรคือผังเมือง ประชาชนอาศัย อยู่ฝั่งธนบุรี แต่แหล่งงาน แหล่งการศึกษาอยู่ฝั่งกรุงเทพฯ ดังนั้นการจราจรจะเป็นคอขวดอยู่บริเวณสะพาน ไม่ว่าจะสะพานซังฮี้ สะพานพระราม 8 สะพานพระปิ่นเกล้า แนวคิดก็คือทำรถไฟฟ้าให้เยอะขึ้น ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดทำท่าเรือข้ามฟาก แต่คงต้องศึกษาแนวทางเพื่อพยายามบรรเทาปัญหาการจราจร และได้ข้อสรุป 7 ข้อ ที่ต้องร่วมดำเนินการกับตร. ดังนี้

1.เรื่องการกวดขันวินัยจราจร 2.จุดฝืด 3.เรื่องรถบรรทุกที่วิ่งผิดเวลา วิ่งนอกเวลา ต้องฝากเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยกวดขัน 4.รถบรรทุกที่บรรทุกของหนัก น้ำหนักเกิน เนื่องจากปล่อยควันพิษ และฝุ่นพีเอ็ม 2.5

5.การบริหารจัดการช่องการจราจร บริเวณโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่ 6.กทม. จะช่วยเรื่องอุปกรณ์ เช่น ติดตั้งกล้องซีซีทีวี ติดตั้งสัญญาณไฟอัจฉริยะ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้มีข้อมูลที่เป็นภาพรวม และ 7.ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง กทม. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจประชุมร่วมกันทุกวันศุกร์ เพื่อติดตามสถานการณ์และหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา ถ้าทั้ง 2 หน่วยงานร่วมมือกัน แม้อาจจะแก้ไขไม่ได้ 100% แต่อย่างน้อยปัญหาการจราจรบรรเทาแน่นอน








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน