ต้นสัก เป็นพืชพื้นถิ่นภาคเหนือที่มีอายุยืนยาว ขนาดใหญ่ ออกดอกในฤดูฝน ผลัดใบในฤดูร้อน

ที่บ้านแม่ปุ อ.แม่พริก จ.ลำปาง มีต้นสักทั้งที่ปลูกเป็นสวนสักและต้นสักที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติตามหัวไร่ปลายนาในชุมชน

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวอากาศเย็นลง ต้นสักจะสลัดใบทิ้งเพื่อความ อยู่รอด ใบสักจะเริ่มหยุดผลิตอาหารและดึงเอาอาหารในส่วนต่างๆ มาเก็บไว้ที่ลำต้น ลดการใช้พลังงานในส่วนที่ไม่จำเป็นลงจนกว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นและผลิใบใหม่อีกครั้ง

หลายๆ ชุมชนในภาคเหนือประสบกับฤดูกาลฝุ่นมลภาวะแทบทุกปี แต่ละชุมชนมีความพยายามลด ละ รณรงค์เลิกเผาที่ก่อให้เกิดหมอกควันเป็นอันตรายต่อสุขภาพในหลายรูปแบบ

ตั้ม ศิริชัย งามสงวนปรีชา แห่งศูนย์เรียนรู้บ้านไร่ธรรมะรักษา ริเริ่มจานใบไม้บ้านแม่ปุมาสามปีแล้ว สาเหตุจากต้องการลดมลพิษฝุ่นควัน ในช่วงฤดูหนาวที่ ส่งผลกระทบต่อครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลูกสาวที่เพิ่งลืมตาดูโลก

“ไม่ใช่ใบไม้ทั้งหมดนะครับที่เป็นโจทย์ อาจจะมีโรงงาน มีรถ มีอะไรหลายอย่าง แต่ถ้าเราทำให้ ส่วนหนึ่งมันหายไป สิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อม ทุกคนก็จะมีความสุขมากขึ้น นอกจากอากาศดีแล้ว หลายๆ คนเขาได้รายได้เพิ่ม จากการที่เราเปลี่ยนของเหลือใช้ที่ไม่มีค่าและอาจจะเป็นมลพิษด้วย ไปเป็นเงินที่กลับมาเป็นค่าขนมเป็นค่าเรียนลูกหลาน ที่สำคัญ ช่วยให้อย่างน้อยในชุมชนของเราควันพิษเบาบางลงไปบ้าง นิดเดียวก็ยังดี ทุกๆ ปี”

น้องเค้ก ด.ญ.ปวันรัตน์ กันตะศรี บอกว่า “มันทำให้เรารู้สึกแสบจมูก แสบตา น้ำตาไหลเลยค่ะ จะมีช่วงต้นปีทุกปีเลย”

การผลิตจานใบสักเป็นอีกทางที่บ้านไร่ธรรมะรักษาลงมือทำ แม้การเผาจะไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดฝุ่นควันมลพิษ แต่หากชุมชนทำได้ ความรุนแรงของฝุ่นควันมลพิษก็คงลดลงไปทุกปีๆ อย่างน้อยก็ในชุมชนของเราเอง ความคิดสร้างสรรค์นี้นำพาชาวบ้านกลับมาอยู่อย่างมีคุณภาพมากขึ้น

จานใบสักลายสวย น่าใช้ หอมกลิ่นธรรมชาติ ปราศจากสารฟอกขาวและสารเคมี ใส่อาหารได้ทั้งร้อนเย็น รวมทั้งอาหารที่เป็นน้ำได้นานหลายชั่วโมง ไม่เปื่อยยุ่ยหรือรั่วซึม เคยมีการทดสอบเอาไปใส่ราดหน้าพบว่าอยู่ได้นานข้ามคืน

หากจะใช้อุ่นอาหารก็สามารถนำเข้าเตาไมโครเวฟได้ถึง 180 องศาเซลเซียส นับว่าสะดวกและไม่เป็นภาระในการกำจัดอย่างจานชามพลาสติกหรือโฟมซึ่งทราบกันดีว่าย่อยสลายยากมากและใช้เวลานานแสนนาน แต่จานใบไม้กลับย่อยสลายได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่เป็นภาระให้ชุมชนและโลก ของเรา

นอกจากใบสัก เด็กๆ เรียนรู้ว่ามีใบไม้อีกมากมายในชุมชนของตัวเองนำมาทำเป็นจานหรือภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ เช่น ใบตึง ซึ่งมีมาก ใบกล้วย มีสวนกล้วยเยอะ พอเก็บกล้วยแล้วฟันทิ้งสูญเปล่า ใบบัว ลายสวย ขึ้นรูปง่าย มีกลิ่นเฉพาะ กาบหมาก เด่นที่หนาทน ไม่ต้องซ้อนหลายใบ ลายสวย หรือแม้แต่ใบตาลจากต้นตาล ที่มีมากมายในชุมชน

“นอกจากใบสัก ได้ลองทำจานจาก ใบบัวด้วยค่ะ ลายสวย แต่ทำยากกว่าหน่อย เพราะมันอาจจะติดเครื่องปั๊มจานได้ค่ะ” ด.ญ.ณัฐนิชา เลขกลาง หรือ ใบบัว เล่าประสบการณ์การเรียนรู้การทำจานใบไม้ครั้งแรก

ในขณะที่ ไอด้า ด.ญ.ไอลดา คำภิระวงศ์ บอกเพื่อนว่า “คราวหน้าจะไม่กวาดใบไม้ ทิ้งแล้ว เอามาทำจาน ทำกระทงลอยสวยๆ ก็ได้”

เส้นทางของจานใบไม้ใบสักและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดูมีอนาคตขึ้นเรื่อยๆ ผลดีที่ได้รับใกล้ตัวเราที่สุด ไม่ต้องมองที่ไหนไกล

พบแนวคิดและการสร้างสรรค์จานใบสักจากบ้านแม่ปุ อ.แม่พริก จ.ลำปาง ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน เริ่มที่เรา เช้าวันเสาร์ ที่ 11 พฤศจิกายน 2566 ช่อง 3 HD เวลา 05.05 น. และอีกครั้งในวันเดียวกัน ทางเพจเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน และยูทูบ เวลา 07.30 น.

วสวัณณ์ รองเดช

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน