ประเทศ “ตุรกี” หรือ ทูร์เคีย อาจไม่ใช่หมุดหมายปลายทางที่คนไทยส่วนใหญ่เลือกเดินทางไปท่องเที่ยว แต่เพราะดินแดนแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมาเป็นไปที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานเก่าแก่ วัฒนธรรมผสมผสานที่มีเสน่ห์ ภูมิประเทศที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก และสถานที่ที่ทำให้เบิกตา มองด้วยความตะลึงครั้งแล้วครั้งเล่า

บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี เลยยกทีมผู้บริหาร นำโดยนายระเฑียร ศรีมงคล ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารเคทีซี และนางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานการตลาดและสื่อสารองค์กร ว่าที่ซีอีโอหญิงคนแรกของเคทีซี พร้อมขบวนสื่อมวลชน เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังตุรกีเพื่อเปิดประสบการณ์แบบ “The story continues…the next journey begins”

ทีมผู้บริหารเคทีซีพาท่องเมืองเอฟิซุส

ตุรกีเป็นประเทศสองทวีปที่มีดินแดนอยู่ทั้งในทวีปเอเชียและทวีปยุโรป ตุรกีในฝั่งเอเชียซึ่งครอบคลุมบริเวณส่วนใหญ่ของคาบสมุทรอานาโตเลีย นับเป็นพื้นที่ร้อยละ 97 ของประเทศ และ ถูกแยกจากตุรกีฝั่งยุโรปด้วยช่องแคบบอสพอรัส ทะเลมาร์มะรา และช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (ซึ่งรวมกันเป็นพื้นน้ำ ที่เชื่อมระหว่างทะเลดำกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน)

พรมแดนด้านเอเชียร์ ติดกับจอร์เจีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน อิหร่าน อิรัก และซีเรีย มีทะเลล้อมรอบ 3 ด้าน ทะเลดำทางทิศเหนือ เมดิเตอร์เรเนียน ทางทิศใต้ และทะเลอีเจียนทางทิศตะวันตก นอกจากนี้ ยังมีทะเลมาร์มะราในเขตตะวันตกเฉียงเหนือ

รูปสลักโบราณที่เห็นได้ตลอดทางในเมืองเอฟิซุส

ส่วนตุรกีในฝั่งยุโรป ตั้งอยู่บนคาบสมุทรบอลข่านมีพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 3 ของทั้งประเทศ พรมแดนด้านยุโรปติดกับกรีซและบัลแกเรีย

ตุรกีมีสภาพภูมิประเทศหลากหลาย เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายพันปี และยังคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบันในรูปของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และภูเขาไฟระเบิดในบางครั้ง ช่องแคบบอสพอรัสและช่องแคบดาร์ดะเนลส์ ก็เกิดจากแนวแยกของเปลือกโลกที่วางตัวผ่านตุรกีทำให้เกิดทะเลดำขึ้น ทางตอนเหนือของประเทศมีแนวแยกแผ่นดินไหววางตัวในแนวตะวันตก ไปยังตะวันออก ซึ่งเป็นสาเหตุของ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปีพ.ศ.2542

สภาพภูมิอากาศของตุรกี มี 4 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ (เดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม), ฤดูร้อน (เดือนมิถุนายน-เดือนกันยายน), ฤดูใบไม้ร่วง (เดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน) และฤดูหนาว (เดือนธันวาคม-เดือนมีนาคม)

สำหรับจุดหมายแรกของทริปนี้ หลังจากนั่งเครื่องบินร่วมสิบชั่วโมงจากสุวรรณภูมิมาถึงนครอิสตันบูลก็เหินฟ้ามุ่งหน้าต่อไปยัง “เมืองอิซมีร์” เมืองใหญ่ริมชายฝั่งทะเลอีเจียนที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสามของตุรกี

‘หมู่บ้านเซรินเช่’ บนหุบเขาสูง

จากนั้นเดินทางต่อด้วยรถบัสไป “หมู่บ้านเซรินเช่” หมู่บ้านสองวัฒนธรรมตุรกี-กรีซ ตั้งอยู่บนหุบเขาสูงล้อมรอบด้วยพืชพรรณไม้ผล

สบู่น้ำมันมะกอก ของหมู่บ้านเซรินเช่

สภาพอากาศและแดดดีเลยทำให้ เซรินเช่ขึ้นชื่อเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผักผลไม้นานาชนิด โดยเฉพาะมะกอกกับองุ่น แน่นอนว่าเมื่อชาวบ้านเซรินเช่มีวิถีชีวิตแบบชาวกรีกที่นี่จึงมีไวน์รสเลิศ และสบู่น้ำมันมะกอกกลิ่นหอมสดชื่น

ตรอกซอกซอยลัดเลาะขึ้นสู่ยอดเขา

นอกเหนือจากความอุดมสมบูรณ์ของผลหมากรากไม้แล้ว เซรินเช่ยังมีวิวทิวทัศน์ของหมู่บ้านบนเขาที่สวยงาม ตรอกซอกซอยทางเดินปูด้วยหินก้อนหนาแบบดั้งเดิม ลัดเลาะผ่านบ้านเรือน ร้านค้า และคอกสัตว์ ได้เห็นการใช้ชีวิตของชาวบ้าน

วิถีชีวิตของชาวบ้านที่พบเห็นได้ตลอดทางเดิน

เดินขึ้นไปจนสุดยอดเขามีหอคอยโฮดรี เมย์เดน ทางเหนือ และโบสถ์เซนต์จอร์จตั้งอยู่ทางใต้ ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่มีการบูรณะใหม่ในปีพ.ศ.2348

เหนื่อยแต่คุ้มเมื่อเห็นวิวชวนว้าวของหมู่บ้านเซรินเช่ เบื้องล่าง

พักพอหายเหนื่อยตะลุยต่อไปยัง “เมืองเอฟิซุส” เมืองประวัติศาสตร์ทางใต้ของอิซมีร์ มีซากนครโบราณที่คงสภาพสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในปีพ.ศ.2558

นักท่องเที่ยวชมความงามของซากเมืองโบราณเอฟิซุส

สถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อคือซากเมืองโบราณเอฟิซุส มี “มหาวิหารของเทพีอาร์เทมิส” ที่เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อถวายเทพีอาร์เทมิส เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ สร้างจากหินอ่อน มีแนวเสาด้านยาว 21 แถว กับด้านกว้าง 8 แถว แต่ต่อมา ถูกรื้อไปใช้สร้างโบสถ์ วิหาร และปราสาทในสมัยหลัง ขณะที่ฐานเสาหินบางส่วนถูกย้ายไปพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบันจึงเหลือแค่เสาหินอ่อนเพียงต้นเดียวที่บูรณะขึ้น

หินแกะสลักรูปเทพธิดาไนกี้ เทพธิดาแห่งชัยชนะที่เอฟิซุส

ซากเสาโบราณเรียงรายตามทางหินอ่อน

อาจารย์ต้น คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ นักเขียนและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ บอกเล่าเรื่องราวระหว่างพาทัวร์ว่าในสมัยอเล็กซานเดอร์มหาราช จอมกษัตริย์กรีกโบราณ พระองค์เคยเสด็จผ่านเอฟิซุสตอนนำทัพรบกับเปอร์เซีย ต่อมานายพลไลซิ มาคุส ผู้ปกครองเอฟิซุส สั่งย้ายเมืองจากเขาไพออนลงมายังพื้นที่ลาดเนินเขาฝั่งที่เป็นซากเมืองโบราณในตอนนี้

ซากเสาหินและสิ่งปลูกสร้างของตลาดโบราณ

และเพราะต้องการให้เอฟิซุสมีฐานะเป็นเมืองหลวงแห่งเอเชียของจักรวรรดิโรมัน เลยมีการสร้างโรงอาบน้ำ วิหาร ถนน จัตุรัสการค้า เพื่อประกาศศักดาวิถีอารยชนแบบโรมัน ผู้คนจากตะวันออก รวมถึงชาวยิว และอียิปต์เลยพากันอพยพเข้ามาตั้งรกรากและค้าขายจนเอฟิซุสกลายเป็นหัวเมืองใหญ่ 5 อันดับต้นของจักรวรรดิโรมัน

มองดีๆ จะเห็นรูปสลักของ ‘เมดูซา’

ภายในซากโบราณมีอะกอราหรือลานจัตุรัส ร่องรอยของส่วนวิหารบูชาเทพีไอซิสของอียิปต์ โรงอาบน้ำวาริอุส ไพรทาเนียมหรือศาลาว่าการเมือง ถนนหินอ่อนแผ่นใหญ่ ปูลาดเป็นทางยาว วิหารแห่งเฮเดรียนที่ซุ้มประตูโค้งมีรูปสลัก “เมดูซา” หนึ่งในปีศาจหรือสัตว์ประหลาดเลื่องชื่อจากเทพปกรณัมกรีก และสุดถนนเป็นซากหอสมุดโบราณของเซลซุสที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเกอุส เซลซุส โพเลเมนุส ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกเซเนตในสมัยจักรพรรดิทราจัน

หน้าหอสมุดโบราณของเซลซุส อันประณีต

หอสมุดเป็นอาคารสูง 2 ชั้น มีเสาไอโอนิก รูปสลักสวยงาม หน้าจั่วชั้นสองมีทั้งแบบโค้งและแบบเหลี่ยม ชั้นล่างมีช่องประดิษฐานเทพีทั้งสี่องค์ คือ โซเฟีย เทพีแห่งความรู้ อราเต เทพีแห่งคุณธรรม เอนโนเอีย เทพีแห่งภูมิปัญญา และเอฟิสติเม เทพีแห่งวิธีหาความรู้

วิหารแห่งเฮเดรียนกับซุ้มประตูโค้ง

น่าเสียดายส่วนอื่นๆ ของหอสมุดถูกทำลายในช่วงที่ชนเผ่ากอทบุกเผาเมืองเอฟิซุส โดยรูปปั้นที่ตั้งอยู่เป็นรูปจำลอง ส่วนรูปปั้นดั้งเดิมถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ ด้านในยังมีโรงละครขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับประชุมสภาเมือง รวมถึงท่าเรือโบราณที่ตื้นเขินและทำให้เอฟิซุสสิ้นสถานะการเป็นเมืองท่าหลักซึ่งนำไปสู่ยุคเสื่อมของเมืองในที่สุด

โรงละครขนาดใหญ่ เป็นที่ประชุมสภาเมือง

นี่แค่วันแรกของทริปท่องตุรกียังเต็มอิ่มกับประวัติศาสตร์และความน่าสนใจของประเทศนี้ที่มีวัฒนธรรมผสมผสานอย่างปฏิเสธไม่ได้

เลยต้องขยายขอพาผู้อ่านข่าวสดร่วมสัมผัสมนตราแห่ง ดินแดนสองทวีปในบทความหน้า แล้วมาติดตามกันว่าตุรก็มีดีอะไรที่รออยู่

ณอร อ่องกมล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน