ระหว่างนี้ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องช่วงวันที่ 12-19 พ.ย. 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

เป็นอีกโอกาสสำคัญของผู้นำประเทศไทยจะได้พบปะหารือกับผู้นำนานาชาติในการประชุมระดับโลก รวมทั้งจะได้พบปะกับผู้บริหารบริษัทสำคัญชั้นนำเพื่อชักชวนให้มาลงทุนในประเทศไทย

ทั้งมีกำหนดกล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit) การหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค

ซึ่งจะได้ย้ำความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี ความเชื่อมโยง ความยั่งยืนและความครอบคลุม รวมถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล และนวัตกรรมใหม่ๆ

สำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่านายกรัฐมนตรีมีภารกิจเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี ในการพบหารือกับผู้นำประเทศอื่นๆ ซึ่งจะมีโอกาสได้พบปะหารือกันในการประชุมครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังพบหารือภาคเอกชนรายใหญ่ของโลกสาขาต่างๆ อาทิ สาขายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล ธุรกิจค้าปลีก และการเงินและการธนาคาร

ส่วนหนึ่งเป็นการต่อยอดและสานต่อจากการพบปะพูดคุยและปูทางกับภาคเอกชนและระดับผู้นำรัฐต่อรัฐในการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติก่อนหน้านี้

สำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปค คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 มีภาคีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ

เป้าหมายคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับประโยชน์และความร่วมมือจากเวทีนี้ตามศักยภาพผู้นำในแต่ละรัฐบาล แต่การประชุมครั้งล่าสุดที่กรุงเทพมหานคร เป็นที่ น่าสังเกตประเทศไทยได้รับอานิสงส์และถูกกล่าวถึงน้อยมาก

ดังนั้น ในการประชุมเอเปคครั้งนี้จึงหวังว่านายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากภาคธุรกิจเอกชน มีความรอบรู้และเข้าใจบริบทของแนวโน้มเศรษฐกิจโลก จะได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน