เปิดประตูสู่โลกดาราศาสตร์ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา ร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จัดกิจกรรม “พาดาว มาหาน้อง” ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โคจรเข้ามาใกล้ชิดดวงดาว กิจกรรมล่าสุดจัดขึ้นที่โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา เปิดให้เด็กๆ 12 โรงเรียน ในอำเภอเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี กว่า 1,440 คน เข้าชมท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่ได้อย่างทั่วถึงทุกโรงเรียน พร้อมร่วมกิจกรรมดูดาวในเวลากลางคืน

“ผมตื่นเต้นมากๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสดูดาวในโดมท้องฟ้าจำลองแบบนี้ ภาพต่างๆ เหมือนจริงกว่าที่คิดไว้อีกครับ ได้เห็นพื้นผิวดวงจันทร์ ได้ฟังถึงต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิต เพื่อนๆ ตื่นเต้นกันทุกคนเพราะเป็นภาพที่ ไม่ได้เห็นบ่อยๆ นอกจากนี้ยังได้ลองใช้เครื่องส่องดูดาว เรียนรู้ดูกลุ่มดาว ทำให้ผมรู้สึกสนุกกับการดูดาวมากขึ้นไปอีกครับ” น้องนนท์ นายนนทวัฒน์ สุขมา ชั้นม.5 โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา บอกเล่าด้วย น้ำเสียงตื่นเต้นดีใจ

ไม่เพียงแต่เด็กๆ ชั้นมัธยมศึกษาเท่านั้น น้องๆ วัยประถมศึกษา น้องน้ำใจ ด.ญ.ลัลล์ลลิล ชูจันทร์ ชั้นป.5 โรงเรียนบ้านมะเดื่อหวาน บอกเล่าความประทับใจว่า “หนูให้เต็มหนึ่งร้อยเลยค่ะ เพราะปกติชอบวิชาวิทยาศาสตร์และการทดลองอยู่แล้ว พอได้มาจับอุปกรณ์ของจริงและเป็นครั้งแรกที่ได้มาดูท้องฟ้าจำลองในโดมรู้สึกตื่นเต้นมากเป็นพิเศษ ได้เห็นภาพดาวสวยๆ เป็นความทรงจำที่จะไม่ลืมเลยค่ะ”

นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา กล่าวว่า เรามองว่าการดูดาวเป็นเพียงปลายทางเท่านั้น ต้นทางที่เป็นจุดประสงค์สำคัญคือการพัฒนาคนผ่านการ กระจายโอกาสทางการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ให้เด็กๆ ทั่วประเทศ ตลอด 4 ปี ที่เปิดบริการหอดูดาวฯ สงขลา มีผู้คนแวะเวียนมาใช้บริการรวมกว่า 7 แสนคน เรามุ่งกระจายโอกาสการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์สู่ภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะภาคใต้ การเปิดให้เข้าชมอาจกระจายโอกาสไม่ทั่วถึง จึงทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและชุมชนทั่ว 14 จังหวัดในภาคใต้ ออกบริการนอกพื้นที่และเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงดาราศาสตร์ผ่านการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ที่จับต้องได้จริง เห็นจริงด้วยตาตัวเอง

มือเล็กๆ ของเด็กๆ นักเรียนเอื้อมไปจับกล้องโทรทรรศน์เพื่อศึกษาการเคลื่อนที่ของ หมู่ดาวใต้ท้องฟ้าที่มืดสนิท นอกจากการดูดาวผ่านโดมท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 เมตร ระบบฟูลโดมดิจิทัล ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้เด็กๆ ราวกับกำลังท่องไปในเอกภพแล้ว อีกหนึ่งไฮไลต์ของกิจกรรม “พาดาวมาหาน้อง” คือการพาน้องๆ แหงนมองท้องฟ้าภายใต้หมู่ดาราจริงในช่วงกลางคืน

น้องๆ ได้ชมวงแหวนดาวเสาร์รวมถึงดาวพฤหัสบดีซึ่งหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวบริวาร 4 ดวง ไปจนถึงสังเกตรายละเอียดพื้นผิวดวงจันทร์ พร้อมชมกลุ่มดาวอีกมากมายที่รอเด็กๆ เข้าไปทำความรู้จัก

น.ส.พรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่าบริษัทหวังว่ากิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นจะช่วยขยายพื้นที่การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์มากขึ้น พร้อมจุดประกายความรู้และแรงบันดาลใจให้เยาวชนสามารถต่อยอดและพัฒนาต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน