วันเสาร์ที่ 18 พ.ย.2566 น้อมรำลึกครบ 14 ปี มรณกาล “สมเด็จพระญาณวโรดม” (ประยูร สันตังกุโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร, อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม และอดีตอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

มีนามเดิมว่า ประยูร พยุงธรรม เกิด เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มี.ค.2459 ที่บ้านท่าเรือ ต.ประจันตคาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายธูป และนางทองหยิบ พยุงธรรม เป็นบุตรคนสุดท้อง

ช่วงวัยเยาว์เริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุราว 6 ขวบ โดยบิดาเป็นครูสอน ต่อมา เข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลประจำอำเภอ จนจบชั้น ป.5 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด จากนั้น พำนักที่วัดเทพศิรินทราวาส ตั้งแต่ พ.ศ.2474 และบรรพชาเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2476 โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมาเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2480 โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอุดมศีลคุณ (อินทร อัคคิทัตตเถร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวินัยธรเพ็ชร ปภังกโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ม.จ.หญิงกรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา นริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นอุปัฏฐากเจ้าภาพบวช ณ พัทธสีมาวัดเทพศิรินทราวาส ได้ฉายาว่า สันตังกุโร ซึ่งแปลว่า หน่อหรือเชื้อสายหรือ ทายาทของผู้สงบ และได้อยู่จำพรรษาที่วัดเทพศิรินทราวาสตลอดมา

ด้านพระปริยัติศึกษา ท่านศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลี สามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก และสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค สำหรับภาษาสันสกฤต ศึกษากับตรี นาคะประทีบ ร่วมกับเพื่อนร่วมรุ่นกัน คือ นายสุชีพ ปุญญานุภาพ และสมเด็จพระวันรัต (นิรันด์ นิรันตโร) จนแตกฉาน โดยเฉพาะวรรณคดีสันสกฤต

ตำแหน่งหน้าที่การงานและผลงานมีมากมาย เป็นผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ในคณะสงฆ์กว่า 100 โครงการ อาทิ ด้านการศึกษา เป็นผู้ริเริ่มเปิดโรงเรียนพระสังฆาธิการและจัดหลักสูตรระดับต้นและระดับสูง เป็นผู้ริเริ่มโครงการและดำเนินงาน โดยเปิดอบรมวิชาการนวกรรมกับการพัฒนาชุมชน

เป็นผู้ริเริ่มโครงการอบรมภิกษุพัฒนาภูมิภาคและปฏิบัติ โดยการอบรมภิกษุพัฒนาภูมิภาค และดำเนินงานโครงการอบรมวิชาเคหพยาบาลแก่ภิกษุ-สามเณรและแม่ชี ร่วมกับสภากาชาดไทย ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านเป็นหัวหน้าพระธรรมทูต สายที่ 7

นอกจากนี้ ยังได้เรียบเรียงจัดแปลและ จัดพิมพ์หลักสูตรนักธรรมธรรมศึกษาทุกชั้นเป็นภาษาอังกฤษ สวดมนต์แปลเป็นภาษาอังกฤษ การเรียนรู้พระพุทธศาสนาในเวลาจำกัดเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน เพื่อเผยแผ่แก่ชาวต่างประเทศ

ตลอดชีวิตของสมเด็จพระญาณวโรดม ทุ่มเทเวลาให้กับผลงานด้านวรรณกรรมมากมาย ได้เรียบเรียงและจัดพิมพ์หนังสือเรียน หนังสือธรรมะ หนังสือท่องเที่ยวอิงธรรมะแบบใหม่ อ่านเข้าใจ สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ หนังสืออ่านสำหรับวัยรุ่นกว่า 30 เล่ม บางเล่มได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ นับว่าเป็นผู้คงแก่เรียน และเป็นนักเขียนฝีมือดีท่านหนึ่งในคณะสงฆ์ไทย

ด้านการปกครองคณะสงฆ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และอื่นๆ อีกมากมาย

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2495 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระศรีวิสุทธิญาณ, พ.ศ.2500 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราช สุมนมุนี

พ.ศ.2505 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพกวี พ.ศ.2515 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมธัชมุนี

พ.ศ.2528 เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองหิรัญบัฏ ที่พระญาณวโรดม

พ.ศ.2546 ทรงพระกรุณาโปรดฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระญาณวโรดม

ท่านเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตร มีความรอบรู้ทั้งในทางคดีโลกและคดีธรรม เป็นพระมหาเถระนักบริหารชั้นสูงรูปหนึ่งของเมืองไทย

แต่ด้วยอายุขัยที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยชราภาพ บ่อยครั้งทำให้ท่านอ่อนแรง สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงดังเดิม กระทั่งเกิดล้มป่วยอาพาธเป็นประจำ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง

เช้าวันพุธที่ 18 พ.ย.2552 สมเด็จ พระญาณวโรดม ละสังขารอย่างสงบ ด้วยวัยวุฒิ 93 ปี พรรษา 72

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน